สระแก้ว – ชาวไร่อ้อย จ.สระแก้ว ยังคงเผาไร่อ้อยทุกวัน ฝุ่นละอองและเขม่าจากใบอ้อย หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “หิมะดำ” ปลิวไปตกยังบ้านเรือนและพื้นที่ชุมชนต่าง ๆ เต็มบริเวณ ส่วนเงินช่วยเหลือปัจจัยการผลิต จากรัฐบาล เพื่อจูงใจให้ลดการเผา ลด PM2.5 ยังไม่ได้ข้อยุติ
เมื่อวันที่ 6 ม.ค.65 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงค่ำของทุกวัน ตั้งแต่กลางเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา หลังโรงงานหีบอ้อยเริ่มเปิดรับผลผลิตจากชาวไร่ ประจำปี 2565/66 จ.สระแก้ว ซึ่ง จ.สระแก้ว จัดได้ว่า มีพื้นที่ปลูกอ้อยมากที่สุดแห่งหนึ่งในภาคตะวันออก ยังคงพบมีเผาอ้อย เพื่อสะดวกในการตัดอ้อยเข้าโรงงานของแรงงานชาวกัมพูชา ต่างจากการตัดอ้อยสด ที่ต้องใช้เวลาสางใบออกก่อน ทำให้ได้ปริมาณที่น้อยลง แรงงานชาวกัมพูชาจึงนิยมตัดอ้อยไฟไหม้มากกว่าอ้อยสด ส่วนเจ้าของไร่อ้อยที่มีความพร้อมด้านเครื่องจักร ส่วนหนึ่งก็เริ่มหันไปใช้รถตัดอ้อยที่มีราคาสูง ปัจจุบันมีจำนวนไม่เพียงพอกับจำนวนพื้นที่ปลูก โดยผู้สื่อข่าวได้ออกตระเวนตรวจสอบพื้นที่ปลูกอ้อยในอำเภอหลัก ๆ ในพื้นที่ อ.วังน้ำเย็น คลองหาด วังสมบูรณ์ และวัฒนานคร พบว่า มีการจุดไฟเผาไร่อ้อยทุกวันในพื้นที่ปลูกอ้อย ตั้งแต่เวลาประมาณ 18.00-20.00 น. และช่วงเช้าประมาณ 05.00-06.00 น.จนเกิดเป็นกลุ่มไฟสีแดงเป็นจุด ๆ ทั่วบริเวณ เพื่อนำคนงานกัมพูชาเข้าตัดในวันรุ่งขึ้น
ดังนั้น ทุกเช้าฝุ่นละอองและเขม่าจากใบอ้อย หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “หิมะดำ” จะปลิวไปตกยังบ้านเรือนและพื้นที่ชุมชนต่าง ๆ เต็มบริเวณทุกวัน ขึ้นอยู่กับทิศทางลม สร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านที่ไม่ได้ประกอบไปอาชีพนี้อย่างมาก แต่การร้องเรียนทำได้แค่บ่นให้เพื่อนบ้านฟังและโพสต์เฟซบุ๊กระบายความรู้สึกเท่านั้น และการเผายังคงเกิดขึ้นต่อเนื่อง คาดว่า จะมีไปจนถึงสิ้นฤดูกาลหีบอ้อย (4 เดือน) แม้ว่าทางจังหวัดสระแก้วจะประกาศห้ามเผา พร้อมกับกำหนดมาตรการเรื่องความปลอดภัยในการขนส่งอ้อย การตัดอ้อยเข้าโรงงาน และอื่น ๆ ไว้ล่วงหน้า ก่อนเปิดหีบอ้อยก็ตาม
ข่าวน่าสนใจ:
นายมนตรี คำพล นายกสมาคมเกษตรกรชายแดนบูรพา เปิดเผยว่า ปีที่ผ่านมาทั้งประเทศมีการเผาอ้อยประมาณ 27% แต่รัฐบาลกำหนดให้เผาได้ 20% ถือว่าเกินกว่าที่กำหนด ปัญหาคือฝนตกช่วงตัดอ้อย ปัญหาเรื่องแรงงาน ปัญหาเรื่องของโรคโควิดที่เข้ามาระบาดทำให้ปริมาณเกินเป้าหมาย แต่ปีนี้นโยบายรัฐบาลคือ ให้เราลดการเผาเหลืออยู่ 5% แต่ปีนี้เราก็พยายามในส่วนของสมาคมและเกษตรกร แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับงบประมาณของรัฐบาลที่จะมาเพิ่มให้เกษตรกรเป็นแรงจูงใจเรื่องปัจจัยการผลิต ซึ่งถ้าไม่มีปัจจัยการผลิต การตัดอ้อยสด อ้อยไฟไหม้ราคาค่อนข้างต่างกัน ก็คือต้นทุนของชาวไร่ แต่ชาวไร่เอง เรายินดีที่จะสนองนโยบายของรัฐบาล แต่ปีนี้ได้มีการหารือแล้ว ที่จะเสนอคณะรัฐมนตรี แต่ไปติดประเด็นตรงที่ว่า บอร์ดคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ซึ่งตัวแทนโรงงานได้ลาออกไปเมื่อช่วงเดือน ต.ค.65 เพิ่งเสนอชื่อเข้ามา ยังไม่มีการแต่งตั้งและกรรมการอ้อยไฟไหม้ก็จะหารือกันอีกรอบ เพื่อเป็นแนวทางเสนอคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายเพื่อเสนอให้ ครม.เห็นชอบ
“ประเด็นที่จะมีการตัดเงิน ปัจจัยการผลิตเพื่อลดปัญหา PM2.5 นั้น ตัวเลขเงินช่วยเหลือปัจจัยการผลิตของรัฐบาล ซึ่งปีที่ผ่านมา ได้ช่วยเงินปัจจัยการผลิตเพื่อลดการเผา มาประมาณ 8,000 กว่าล้าน มาเพิ่มให้ชาวไร่ตันละ 120 บาท แต่ปีนี้ถ้าโครงการนี้มีต่อผมคิดว่า คงจะแก้ไขปัญหาได้ ถ้าไม่มีปัจจัยการผลิตมาเพิ่มให้เกษตรกร คิดว่า คงจะแก้ปัญหาเรื่อง PM2.5 ยากครับ เพราะค่าใช้จ่ายระหว่างการตัดอ้อยสดและอ้อยไฟไหม้ ราคาต่างกันประมาณตันละ 100 กว่าบาท ถ้าไม่มีคิดว่า คงจะเกิดปัญหาอีกเช่นเดิม เพราะกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายขาดรายได้ จากที่เคยมีรายได้ กก.ละ 5 บาทสมัยท่าน สมัคร สุนทรเวช โดยการบริหารของกองทุนฯ ปัจจุบันรัฐบาลได้ปล่อยให้น้ำตาลลอยตัว เราก็ไม่มีเงินที่จะมาบริหาร ก็ต้องอาศัยงบประมาณเรื่องปัจจัยการผลิตจากรัฐบาล ซึ่งถ้ารัฐบาลไม่มีเงินมาอุดหนุนต่อ คิดว่า เกษตรกรน่าจะเผาต่อ เพราะบางพื้นที่ยังไม่เหมาะสม เครื่องจักรก็ยังไม่เพียงพอ ตอนนี้ชาวไร่ก็รอฟังข่าวจากบอร์ดคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เรื่องแนวทางการอุดหนุนเรื่องปัจจัยการผลิตเป็นหลัก ซึ่งเงินดังกล่าวของปีก่อนรัฐบาลเพิ่งหามาจ่ายให้เกษตรกรช่วงก่อนฤดูตัดอ้อยที่ผ่านมานี้เอง” นายมนตรี กล่าว
ทางด้าน นายอรุโณทัย พิชิ เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยแปลงใหญ่ และใช้เครื่องจักรในการตัดอ้อยเป็นหลัก กล่าวว่า จะปลูกและเก็บเกี่ยวแปลงอ้อยโดยใช้รถตัดอ้อยทั้งหมด โดยไม่ได้เผาใบ ช่วงหน้ากีดร่องฝังปุ๋ยก็จะกลบใบคลุกใบเพื่อเป็นปุ๋ย โดยไม่ได้ม้วนใบขายเหมือนเกษตรกรรายอื่น ต้องการให้เป็นปุ๋ยกับดิน โดยทำมา 8 ปี สำหรับรถตัดอ้อย ซึ่งเป็นผลดี ทำให้อินทรีย์วัตถุเพิ่มในดินไปเรื่อย ๆ ทำให้ใช้ปุ๋ยเคมีน้อยลง ลดต้นทุนการผลิตได้ ปัจจุบันทำประมาณ 800 ไร่ เห็นความแตกต่างระหว่าง ทำอ้อยเผาและไม่เผา เห็นได้ชัดว่า ความร้อยจะไปทำลายอินทรีย์วัตถุในผิวดิน เมื่อไม่เผาจะทำให้เราได้อินทรีย์วัตถุเพิ่มขึ้นมาประมาณไร่ละ 1 ตัวกว่าทุกปี ทำให้ดินมีความร่วนซุย มีอากาศมากขึ้น พอดินมีอากาศมีอินทรีย์วัตถุเพิ่มขึ้น อ้อยก็งามสูงกว่า 2 เมตร จึงอยากแนะนำให้เกษตรกร เปลี่ยนวิธีปลูกอ้อย เครื่องมือก็มีส่วนสำคัญที่จะสามารถคลุกใบอ้อยให้ลงไปผสมในดิน ซึ่งเกษตรกรทุกคนสามารถทำได้ และพยายามไปหาความรู้เพิ่มเติม โดยนำสิ่งที่เรามีอยู่คือใบอ้อย หาเครื่องมือมาทำให้ใบอ้อยคลุกลงไปในดินจะได้ประโยชน์สูงสุด ปัจจุบันจึงมีเกษตรกรหันไปตัดสดมากขึ้นเพราะได้เงินช่วยเหลือปัจจัยการผลิตเพิ่มขึ้นมาตันละ 120 บาท ทำให้การเผาอ้อยลดน้อยลง ขณะที่การตัดอ้อยสดเป็นลำและมีใบอ้อยที่เหลือยังคงยาวอยู่ บางรายก็ยังคงมีการเผาอยู่เช่นเดิม หากสามารถม้วนใบอ้อยเพื่อขายโรงงานได้โดยไม่ต้องเผา ก็สามารถลด PM2.5 ได้เช่นกัน
——————————
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: