สระแก้ว – คณะกรรมาธิการป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยธรรมชาติและสาธารณภัย สภาผู้แทนราษฎร ลงพื้นที่ชาวบ้านร้องเรียนปัญหาบ่อขยะพิษ อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว โดยชาวบ้าน 3 ตำบล ไม่พอใจการพูดคุยชี้แจงของทางโรงงาน พูดในที่ประชุมไม่ตรงประเด็นกับที่ชาวบ้านร้องเรียน เรื่องกลิ่นเหม็น และการขนขยะพิษมาจากต่างจังหวัดเข้ามาทิ้งในบ่อต่าง ๆ โดยตอบคณะกรรมาธิการว่าไม่มีการขนขยะพิษเข้ามาทิ้งหลังจากมีคำสั่ง ม.39 ให้หยุดดำเนินการ และปัญหาเรื่องกองทุน 3 กองทุนตามกฎหมาย มีการตอบไม่ตรงประเด็น ระบุอีก 90 วัน สรุปผลการแก้ปัญหาและต้องตอบทุกคำถามของประชาชนในพื้นที่
นายกัญจน์พงศ์ จงสุทธนามณี โฆษกคณะกรรมาธิการและประธานคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยจากขยะที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน เดินทางลงพื้นที่ตำบลห้วยโจด อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว ในฐานะคณะกรรมาธิการป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยธรรมชาติและสาธารณภัย สภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วย น.ส.เบญจา แสงจันทร์ ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการฯ ,นายสนธิ คชวัฒน์ เลขานุการคณะอนุกรรมาธิการ/นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยที่ปรึกษาและคณะอนุกรรมาธิการ ,นายชรินทร์ ภู่ชัย นายอำเภอวัฒนานคร ,นายสาโรจน์ ทองพรหม รองประธาน ก.ธ.จ.สระแก้ว/กรรมการธรรมาภิบาลจังหวัดสระแก้ว , นายชาตรี ผดุงพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสระแก้ว ,ท้องถิ่นจังหวัด, อุตสาหกรรมจังหวัด, สำนักสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 7, กองบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม ,อำเภอวัฒนานคร, องค์กรปกครองท้องถิ่น ,กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน, ผู้แทนประชาชนที่ได้รับผลกระทบ 3 ตำบลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมี รศ.ดร.วิไลลักษณ์ สกุลภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. โปรเฟสชั่นแนล เวสต์ เทคโนโลยี (1999) และผู้บริหารร่วมชี้แจง ซึ่งการลงพื้นที่เพื่อศึกษาดูงานและตรวจสภาพพื้นที่ปัญหาภัยจากขยะที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนและสร้างปัญหาความเดือดร้อนให้กับชาวบ้าน ที่ได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการรับบำบัดกำจัดกากอุตสาหกรรมของบริษัท โปรเฟสชั่นแนล เวสต์ เทคโนโลยี 1999 จำกัด (มหาชน) ในพื้นที่ ต.โนนหมากเค็ง อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว โดยได้รับผลกระทบในเรื่องกลิ่นเหม็นจากโรงงานอย่างรุนแรง และยังมีปัญหาน้ำเสียไหลลงในพื้นที่เกษตรกรของชาวบ้านด้วย
ทั้งนี้ นายกัญจน์พงศ์ จงสุทธนามณี โฆษกคณะกรรมาธิการและประธานคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยจากขยะที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน พร้อมด้วยคณะและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมประชุมและบรรยายสรุปข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาความเดือนร้อนของประชาชนในพื้นที่ ต.ห้วยโจด ต.โนนหมากเค็ง อ.วัฒนานคร รวมทั้งแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้อง หลังจากนั้นได้ร่วมกันพบปะประชาชนในพื้นที่ 3 ตำบลที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาดังกล่าว ก่อนจะลงพื้นที่บริเวณโดยรอบและภายในโรงงาน บริษัท โปรเฟสชั่นแนล เวสต์ เทคโนโลยี 1999 จำกัด (มหาชน) ซึ่งนายชรินทร์ ภู่ชัย นายอำเภอวัฒนานคร กล่าวว่า คณะกรรมาธิการฯ เดินทางมาเพื่อดูกระบวนการบริหารจัดการขยะในพื้นที่ โดยได้ลงพื้นที่ดูการบริหารจัดการขยะเพื่อนำแนวทางการบริหารจัดการขยะไปขยายผลให้เกิดประโยชน์กับหน่วยงานภาครัฐและสังคมในภาพรวม ที่ให้ความสำคัญการจัดการขยะในพื้นที่จังหวัดสระแก้วให้มีการบบริหารจัดการขยะ เพื่อให้เกิดความยั่งยืน โดยการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำจัดการขยะพิษขยะอันตรายจากต้นทางจนถึงปลายทาง โดยมุ่งสร้างความเข้มแข็งของชุมชนอย่างยั่งยืนถาวร
ข่าวน่าสนใจ:
ขณะเดียวกัน นายสาโรจน์ ทองพรหม รองประธานกรรมการธรรมาภิบาลจังหวัดสระแก้ว กล่าวว่า สืบเนื่องจากมติที่ประชุม ก.ธ.จ.สระแก้ว ครั้งที่ 1/2564 วันที่ 15 มี.ค.64 มีมติให้คณะกรรมการธรรมาภิบาล จำนวน 5 คน เป็นผู้แทนในการติดตามข้อร้องเรียนของประชาชนรอบพื้นที่ บริษัทโปรเฟสชั่นแนล เวสต์ เทคโนโลยี (1999)จำกัด(มหาชน) เกี่ยวกับปัญหาน้ำเน่าเสียมีพิษรั่วไหลของกากอุตสาหกรรมอันตราย ไหลลงแหล่งน้ำและพื้นที่การเกษตรกรรมของชาวบ้านได้รับความเสียหาย ซึ่งจากเอกสารรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ปี พ.ศ. 2545 พบว่า มีการเปลี่ยนแปลงขยายกิจการโรงงานหลายประการ มาหลายปีแล้ว ต่อมา จังหวัดสระแก้ว ได้แต่งตั้งคณะกรรมการไตรภาคีขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหา เรื่องร้องเรียน โดยมีการประชุมครั้งแรก เมื่อวันที่ 27 ก.ย.64 และต่อมา ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการระดับอำเภอ ดำเนินการต่อในระดับพื้นที่ โดยมีนายอำเภอวัฒนานคร เป็นประธาน เพื่อติดตามประเด็นข้อร้องเรียนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งก็ลดปัญหาได้ในระดับหนึ่ง ข้อสงสัยในเรื่องการก่อสร้างถนนเส้นใหม่ เพื่อขนกากอุตสาหกรรมอันตราย จะเป็นการขยายกิจการของบริษัทฯ โดยเฉพาะระยะทางยาว 3.4 กม. ที่ต้องขนกากอุตสาหกรรมผ่านพื้นที่ของผู้ร้องเรียน
โดยในเรื่องดังกล่าว มีหนังสือตอบจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ตอบกลับมา ก็ยังไม่ชัดเจนและไม่ตรงประเด็นที่ประชาชนสงสัย ในทำนองว่า “ไม่ต้องทำ EIA เพิ่มเติม” และข้อสงสัยเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงและการขยายบ่อกลบขยะอุตสาหกรรมอันตราย มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไม่ตรงกับรายงาน EIA ปี พ.ศ.2545 แต่ทางโรงงานผู้ถูกร้องกล่าวอ้างว่า “ได้รับการอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว” แต่ผ่านมาเกือบ 2 ปี ยังไม่สามารถนำมาแสดงให้ประชาชนรับทราบได้ว่า เท่าที่ประชาชนเฝ้าติดตามเรื่องนี้ก็ยังไม่มี
นายกัญจน์พงศ์ จงสุทธนามณี โฆษกคณะกรรมาธิการและประธานคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาแนวทางการป้องกันและแก้ไขภัยจากขยะที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน ในคณะกรรมาธิการการป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยธรรมชาติและสาธารณภัย สภาผู้แทนราษฎร กล่าวกับชาวบ้านหมู่ 3 ตำบล ประกอกบด้วย ตำบลห้วยโจด โนนหมากเค็ง และท่าเกษม ได้เคยร้องเรียนเกี่ยวกับความเดือดร้อนเกี่ยวการขยายกิจการของบริษัทฯ ที่ผ่านมา กรณีการขอใช้เส้นทางขนส่งกากอุตสาหกรรมและแนวเขตหลุมฝังกลบกากอันตราย หลุม L1-L3 มีการปิดหลุมอย่างถาวรแล้ว และหลุมผังกลบกากอุตสาหกรรมอันตราย L4 มีการนำพื้นที่ จำนวน 24 ไร่ ที่บริษัทฯอ้างว่า “ปรับปรุงแปลงไปเป็นบ่อบำบัดน้ำเสีย” แต่ยังไม่มีเอกสารอนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมมาแสดง ซึ่งจะต้องมีการดำเนินการให้ชัดเจน
สำหรับหลุมฝังกลบประเภทกากไม่อันตราย หลุม L5-L7 ได้ปิดหลุมอย่างถาวรแล้ว แต่หลุม L8 ยังอยู่ระหว่างการใช้งานได้ตามปกติ นอกจากนี้ โรงงานผู้ถูกร้อง ได้รับคำสั่งตามมาตรา 39 จากกรมโรงงานอุตสาหกรรม ช่วงต้นปี พ.ศ.2565 ให้หยุดประกอบกิจการด้านการกำจัดกากอุตสาหกรรมประเภทอันตราย เนื่องจากมีการร้องเรียนจากประชาชนในพื้นที่หลายครั้ง และมีการลงพื้นที่ไปติดตามปัญหาข้อร้องเรียน โดยประธานกรรมการธรรมาภิบาลจังหวัดสระแก้วและกรรมการไตรภาคี หลายครั้ง ซึ่งประชาชนยังพบว่า มีการขนกากอุตสาหกรรมเข้าโรงงานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งไม่สามารถตรวจสอบว่า เป็นกากอุตสาหกรรมอันตรายหรือยังขนเข้ามาพื้นที่จังหวัดสระแก้วตลอด แต่ทางโรงงานโปเฟสฯ อ่างว่า เป็นขยะดี ซึ่งไม่ชัดเจนว่า เป็นขยะพิษที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ จ.ราชบุรีหรือไม่ จึงต้องการให้เกิดความชัดเจน ซึ่งในที่ประชุมดังกล่าว ผู้ใหญ่บ้าน 2 หมู่บ้านระบุชัดเจนว่า ชาวบ้านยังได้รับผลกระทบจากกลิ่นเหม็นตลอดเวลาในช่วงที่ผ่านมา
ทางด้าน รศ.ดร.วิไลลักษณ์ สกุลภักดี ประธานกรรมการบริหาร บมจ.โปรเฟสชั่นแนล เวสต์ เทคโนโลยี (1999) กล่าวว่า ขอชี้แจ้งข้อร้องเรียนที่สงสัยว่า เหตุใดทางโรงงานไม่ส่งเงินเข้ากองทุนเพื่อพัฒนาสิ่งแวดล้อมตามเงื่อนไขที่ระบุใน EIA จำนวน 3 กองทุน ซึ่งระยะเวลาตั้งแต่เริ่มประกอบการมานานเกือบ 20 ปี ได้แก่ 1.กองทุนเพื่อการปิดโครงการ จำนวน 162.3 ล้านบาท (คิดจากกาก 15 บาท/ตัน) 2.กองทุนฟื้นฟูภายหลังปิดการดำเนินโครงการ จำนวน 108 ล้านบาท (คิดจากกาก 10 บาท/ตัน) และ 3.กองทุนเพื่อพัฒนาชุมชน จำนวน 108 ล้านบาท (คิดจากกาก 10 บาท/ตัน) สำหรับในเรื่องนี้บริษัทฯขอชี้แจงต่อที่ประชุมว่า “มีการเตรียมเงินฝากไว้กับธนาคารออมสินไว้พร้อม ประมาณ 60 ล้านบาท” โดยที่ประชุมมีมติให้โรงงานผู้ถูกร้องดำเนินการจัดตั้งทั้ง 3 กองทุนให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน แต่ในขณะนี้ การดำเนินการมีความคืบหน้าไปมากแล้ว เนื่องจากทางผู้บริหารชุดใหม่ ได้เข้ามาบริหารได้ประมาณ 8 ปี ปัจจุบันมีการจัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาชุมชน 3 กองทุนแล้ว
ขณะเดียวกัน ชาวบ้านระบุในที่ประชุมว่า ไม่รู้เรื่องการดำเนินการเรื่องกองทุน 3 กองทุนตามที่โรงงานกล่าวอ้าง มีเพียงการดำเนินการเฉพาะกองทุนเพื่อพัฒนาชุมชนเท่านั้น ที่มีการจัดสรรเงินบางส่วนให้แต่ละหมู่บ้านในช่วงที่ผ่านมา แต่ยังไม่สามารถนำไปดำเนินการได้เนื่องจากไม่มีความชัดเจนเรื่องรายละเอียดการใช้เงินกองทุนดังกล่าวว่า เป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ ซึ่งการชำระเงินเข้ากองทุนต่าง ๆ ต้องอ้างอิงจากข้อมูลกองบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม กรมโรงงานอุตสาหกรรม ตามที่ตกลงไว้ในที่ประชุมคณะทำงานไตรภาคีฯ และเงินการจัดตั้งกองทุนฯ นำไปใช้จ่ายถูกต้องตามระเบียบกองทุนฯ ตามรายงาน EIA ปี พ.ศ.2545 ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบและในฐานะผู้บริหารชุดใหม่ ได้ทำหนังสือร้องเรียนถึงผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว ผ่านศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดสระแก้ว ตรวจสอบข้อสงสัยการดำเนินการของคณะทำงานของผู้บริหารบริษัทชุดใหม่ เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียน กรณีการแก้ไขปัญหาข้อร้องเรียนบริษัทดังกล่าว เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นให้สามารถอยู่ร่วมกับประชาชนได้
อย่างไรก็ตาม ภายหลังคณะกรรมาธิการการป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยธรรมชาติและสาธารณภัย สภาผู้แทนราษฎร และคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยจากขยะที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน สภาผู้แทนราษฎร ลงพื้นที่ดังกล่าว คณะอนุกรรมาธิการฯ มีข้อเสนอให้หน่วยงานดำเนินการใน 2 ข้ออย่างเร่งด่วน ประกอบด้วย 1.ตั้งคณะกรรมการกำกับติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากกรมโรงงาน กรมควบคุมมลพิษ สผ. และผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อม นักวิชาการจากภาคประชาชน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ และเจ้าของโครงการร่วมดำเนินการตรวจสอบ โดยให้เอ็กซ์เรย์ทุกแหล่งกำเนิดที่มีกลิ่นเหม็น และมลพิษในพื้นที่โรงงาน และแก้ไขปัญหาให้แล้วเสร็จ รวมถึงกำกับติดตามให้มีการปฏิบัติตามข้อกำหนดในรายงานอีไอเอให้ครบถ้วน และจัดตั้ง 3 กองทุน ตามที่ระบุไว้ในรายงานอีไอเอ โดยให้ดำเนินการเป็นรูปธรรม แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน ก่อนรายงานให้คณะกรรมการไตรภาคีของจังหวัด หน่วยงานอนุญาต และคณะอนุกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎรรับทราบ และ 2.คณะอนุกรรมาธิการฯ ได้เสนอขอให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม เป็นผู้ออกคำสั่งและร่วมแก้ไขปัญหากับเจ้าของโครงการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน โดยต้องตอบทุกคำถามของประชาชนในพื้นที่ด้วย
————————-
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: