สระแก้ว – เปิดภาพ 3D SKY WALK เขาฉกรรจ์ อ.เขาฉกรรจ์ จ.สระแก้ว โดยทีมสำรวจลงพื้นที่เก็บข้อมูลศึกษา เพื่อทำเรื่องเสนอให้อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธ์ุพืช พิจารณาอนุมัติในหลักการ ก่อนจะมาเริ่มสำรวจอย่างจริงจังและขออนุมัติก่อสร้างอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะรูปร่างเป็นเรือสำเภาขนาดใหญ่ ความยาว 63 เมตร กว้าง 12 เมตร มีเสากระโดงเรือ อยู่หัวและท้ายเรือ ตั้งเด่นสวยงาม อยู่ระหว่างเขาฉกรรจ์ลูกที่ 2 และ ลูกที่ 3 ขณะนี้สภาเทศบาลได้คุยกันนอกรอบกับทีมผู้บริหาร ยินดีสนับสนุนโครงการนี้ คาดว่า จะใช้งบประมาณก่อสร้าง 70 ล้านบาท หากได้รับการอนุมัติ การก่อสร้างตั้งแต่เริ่มต้นจนจบโครงการ น่าจะใช้เวลาประมาณ 3 ปี
เมื่อวันที่ 19 ม.ค.66 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณสวนรุกชาติเขาฉกรรจ์ ต.เขาฉกรรจ์ อ.เขาฉกรรจ์ จ.สระแก้ว นายชริน เซ่งลอยเลื่อน หัวหน้าสวนรุกขชาติเขาฉกรรจ์ พร้อมด้วย ว่าที่ ร.ต.โจทย์ แดงจันทร์ นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลเขาฉกรรจ์ ผู้บริหารเทศบาลและสมาชิกสภาเทศบาลตำบลเขาฉกรรจ์ ได้นำคณะทีมเจ้าหน้าที่สำรวจการก่อสร้างจุดชมวิวเรือนยอดไม้หรือ “สกายวอล์คเขาฉกรรจ์” ตามที่ทีมงานบริหารและสมาชิกเทศบาลตำบลเขาฉกรรจ์ ได้ให้สัญญาไว้กับประชาชนในช่วงที่ผ่านมา โดยโครงการก่อสร้างดังกล่าว จะอยู่ระหว่างกึ่งกลางของเขาฉกรรจ์ทั้ง 2 ลูก เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและเป็นแลนด์มาร์คสำคัญของอำเภอเขาฉกรรจ์ จ.สระแก้ว ซึ่งคณะทีมสำรวจได้เดินจากบริเวณลานริมถนนรอบเขาฝั่งตะวันออก ตามเส้นทางศึกษาธรรมชาติ เพื่อไปยังจุดกึ่งกลางระหว่างภูเขาหินปูนทั้ง 2 ลูก ระยะทางประมาณ 100-200 เมตร พร้อมกับตอกหลัก ดึงเชือก เพื่อวัดขนาดพื้นที่ วางผังจุดที่จะก่อสร้างเสาฐานรากของสกายวอล์ค อย่างน้อย 2 จุด เพื่อคำนวณความสูง ความกว้าง และความลึกของจุดที่จะทำการขุดเจาะฐานราก และพื้นที่ใช้สอยโดยรอบที่จะใช้ในการก่อสร้าง รวมทั้งพิจารณาเส้นทางความเป็นไปได้ ที่จะใช้ในการนำเครื่องจักรขึ้นไปก่อสร้างโครงการดังกล่าวด้วย
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังทีมสำรวจ”สกายวอล์คเขาฉกรรจ์” ได้นำภาพถ่ายมุมสูงและจุดที่จะก่อสร้างโครงการ มาทำภาพ 3D SKY WALK เขาฉกรรจ์ ซึ่งมีลักษณะรูปร่างเป็นเรือสำเภาขนาดใหญ่ ขนาดความยาว 63 เมตร กว้าง 12 เมตร มีเสากระโดงเรือ อยู่หัวและท้ายเรือ ตั้งเด่นสวยงาม อยู่ระหว่างเขาฉกรรจ์ลูกที่ 2 และ ลูกที่ 3 ซึ่งเป็นการออกแบบโดยช่างที่มีประสบการณ์ เพื่อใช้ประกอบในการเสนอโครงการก่อสร้างจุดชมวิวเรือนยอดไม้หรือ สกายวอล์คเขาฉกรรจ์ จากภาพการเดินสำรวจพื้นที่ ซึ่งมีทั้งสมาชิกเทศบาลเขาฉกรรจ์ ,หัวหน้าสวนรุกขชาติ เจ้าของพื้นที่ ช่างออกแบบที่เคยออกแบบที่อื่นมาแล้ว และนายช่างเทศบาลฯ ร่วมกันพิจารณารูปแบบเบื้องต้น และเร่งเดินหน้าเก็บข้อมูลอย่างรอบด้าน
ข่าวน่าสนใจ:
- ททท.แถลงข่าวกิจกรรม Event Marketing ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงกีฬา “แข่งขันวิ่งเทรลไตรบูรพาซีรีย์ 4 สนาม 3 จังหวัดภาคตะวันออก
- ศุภาลัย เปิดบ้านซีรีส์ใหม่ Tropical Modern ครั้งแรก! ในสุราษฎร์ฯ ปักหมุดแบรนด์ “ปาล์มวิลล์ โกเตง” ตอบโจทย์ชีวิตติดเมือง
- สนามเปิดตัวจังหวัดสระแก้ว "วิ่งเทรลไตรบูรพา ซีรีย์ 4 สนาม 3จังหวัดภาคตะวันออก"
- นาทีหนีตาย!! โดดลงจากบ้านสูง 3 เมตร หนุ่มโรงงาน หวังรวยทางลัด วิ่งขายยาเสพติดในพื้นที่ ต.บ้านแก้ง สุดท้ายหนีไม่รอด
นายชริน เซ่งลอยเลื่อน หัวหน้าสวนรุกขชาติเขาฉกรรจ์ กล่าวว่า วันนี้เป็นการเก็บข้อมูลศึกษาเบื้องต้น เพื่อทำเรื่องขออนุมัติในหลักการกับท่านอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธ์พืชว่า จะก่อสร้างได้หรือไม่ เป็นอีกระดับหนึ่ง ซึ่งวันนี้ตนได้รับการขอความร่วมมือจากทางทีมงานเทศบาลและนายกเทศมนตรีตำบลเขาฉกรรจ์ ในการขอเข้ามาเก็บข้อมูลเพื่อประมวลเรื่องให้อธิบดีพิจารณาในหลักการก่อน พอถ้าได้รับการพิจารณาในหลักการแล้ว เราก็จะมาเริ่มสำรวจทำอย่างจริงจัง และขออนุมัติก่อสร้างอีกครั้งหนึ่ง โดยตอนนั้นจะมีการศึกษาสำรวจผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งระบบ มีกรรมการจากกรมฯ จากส่วนกลาง เข้ามาร่วมตรวจสอบด้วย พอศึกษาเสร็จ ทำ ปร.4 ,ปร.5 ก็จะทำเรื่องอนุญาตก่อสร้าง ดังนั้น วันนี้จะเป็นการศึกษาเพื่อเก็บข้อมูลนำเสนอเบื้องต้น ขออนุมัติในหลักการกับอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ซึ่งสวนรุกขชาติเขาฉกรรจ์ มีภารกิจคือรวบรวมพันธุ์ไม้หายาก พันธุ์ไม้ท้องถิ่น จากนั้นก็เอาพันธุ์ไม้ไปถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับประชาชน การทำสกายวอล์คถือว่า เป็นการศึกษาเรือนยอดไม้อีกวิธีการหนึ่งและเป็นการบริหารจัดการร่วมกันระหว่าง เทศบาลตำบลเขาฉกรรจ์ ในการดึงให้ชุมชนโดยเฉพาะชุมชนรอบเขาฉกรรจ์มีรายได้จากการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ ซึ่งเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจชุมชน โรงแรม ร้านอาหาร และข้อดีคือเรามีผู้หลักผู้ใหญ่คอยให้คำปรึกษา สนับสนุนผลักดันที่จะให้มีแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของ จ.สระแก้ว ให้ได้
หัวหน้าสวนรุกขชาติเขาฉกรรจ์ กล่าวอีกว่า เบื้องต้นทางเทศบาลและตนเองได้เดินทางไปพูดคุยเรื่องนี้กับอธิบดีและผู้บังคับบัญชาที่รับผิดชอบดูแลสวนรุกขชาติไว้แล้ว ซึ่งการดำเนินการในพื้นที่สวนรุกชาติสามารถดำเนินการได้ง่ายพื้นที่อุทยานแห่งชาติ และเท่าที่ได้พูดคุยกับประชาชนและชาวบ้านรอบเขาฉกรรจ์ บอกว่า ถ้าเราพัฒนาเขาฉกรรจ์ให้เจริญ ต้องพัฒนาสวนรุกขชาติให้เจริญ รายได้เกิด ชุมชนรอบเขาได้ประโยชน์มหาศาล การพัฒนาครั้งเดียวแต่รายได้ภาพรวมเยอะมาก แม้แต่ร้านอาหาร ที่พัก หรือรีสอร์ต ซึ่งรอบเขาทางเทศบาลมีแผนงานที่จะปลูกดอกไม้ ต่อไปจะมีดอกไม้รอบเขา ฉะนั้น เรามีแผนงานที่จะดำเนินการร่วมกับทางเทศบาลเยอะมาก จึงต้องทำร่วมกันเป็นโครงการต่อเนื่อง เราสามารถต้องดึงนักท่องเที่ยวให้มานอนที่เขาฉกรรจ์ รุ่งเช้าก็เที่ยวแถวนี้ ก่อนที่จะไปเล่นน้ำทะเลและเดินทางกลับ เพื่อให้เราเป็นจุดพัก ดีกว่าขับรถผ่านเราอย่างเดียว และช่วงเย็นเมื่อนักท่องเที่ยวขึ้นไปบนสกายวอล์ค จะเห็นค้างคาวออกจากถ้ำเป็นสาย ฝั่งตะวันออกเป็นพื้นที่วังน้ำเย็น ฝั่งตะวันตกเป็นเมืองสระแก้ว หากขับรถมาจากเมืองสระแก้ว จะมองเห็นสกายวอล์คแต่ไกล ฝั่งตะวันออกก็จะเป็นมุมที่พระอาทิตย์ขึ้น เห็นมุมมองทั้งหมด 380 องศา
ว่าที่ ร.ต.โจทย์ แดงจันทร์ นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลเขาฉกรรจ์ กล่าวว่า การศึกษาและก่อสร้างเราพิจารณาว่าทำอย่างไรจะไม่ให้กระทบกับลิงและค้างคาวมาก ทางทีมวิจัยก็จะต้องมาสำรวจอีกครั้งซึ่งคนส่วนใหญ่จะกังวลเรื่องนี้ ซึ่งที่ผ่านมาชาวบ้านก็จะถามว่าโครงการสกายวอล์คถึงไหนแล้ว เมื่อไหร่จะเสร็จซักที ซึ่งเรื่องส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยว สกายวอล์คเป็นจุดขาย เป็นนโยบายที่เราบอกไว้ตั้งแต่แรก พอถึงเวลาเราก็ต้องพยายามผลักดันให้เกิดขึ้น ซึ่งไม่รู้ว่าจะเป็นไปได้แค่ไหน วันนี้ก็เป็นจุดหนึ่งที่เราจะมาดูว่า ความเป็นไปได้แค่ไหน เราพยายามศึกษาหลายช่องทางและตอนนี้มาดูพื้นที่จริง นักวิชาการ ช่าง และวิศวกร มาดูพื้นที่จริง ดูว่าความเป็นไปได้ที่จะสร้าง ซึ่งจากพื้นที่ความเป็นไปได้มีแล้ว ขั้นตอนต่อไป เรื่องสำคัญมากคือ การขออนุญาตก่อสร้างจากเจ้าของพื้นที่กรมอุทยานแห่งชาติฯ ซึ่งดูแลสวนรุกขชาติ ขึ้นอยู่กับทางผู้หลักผู้ใหญ่ว่าจะเห็นความสำคัญ จะกระทบกระเทือนมากน้อยแค่ไหน เราก็ต้องพยายามหาข้อมูลต่าง ๆ ให้ทางผู้หลักผู้ใหญ่ได้รับทราบ
“แผนสำรองที่เราต้องผลักดันให้เกิดสกายวอล์คก่อน หากไม่ได้จริง เราก็จะทำทางเดินธรรมชาติรอบเขาฉกรรจ์ ซึ่งมีถนนที่เทศบาลดูแลรอบเขาอยู่แล้ว จะปรับไหล่ถนนให้เป็นทางเดินชมธรรมชาติ ซึ่งจะเป็นทางเดินคล้าย ๆ สกายวอร์ค ซึ่งอยู่นอกเขาเพื่อสร้างจุดขายเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวมาบ้านของเราให้ได้ ซึ่งที่ผ่าน ๆ มาไม่ใช่ไม่เคย แต่เราก็พยายามทำ แต่เหมือนกับว่า เขาฉกรรจ์ยังไม่มีจุดขาย นักท่องเที่ยวเลยมาไม่มาก ไม่ต่อเนื่อง ทำให้กิจการต่าง ๆ ไปได้ไม่ต่อเนื่อง สร้างได้ไม่นานก็หายไป ถ้าสร้างจุดขายและก่อสร้างสกายวอล์คได้สำเร็จ คาดหวังว่าจะดึงนักท่องเที่ยวจากทุกสารทิศมาทำให้เกิดการกระจายรายได้ในพื้นที่ของเราซึ่งเป็นเป้าหมาย ส่วนเรื่องการลงทุนจะคุ้มกับนักท่องเที่ยวมาเที่ยวชมมั้ย กี่ปีจะคุ้ม ซึ่งผมว่า ไม่ใช่ประเด็นหลัก คือถ้าเราได้สิ่งที่เป็นจุดเชิดหน้าชูตาของพื้นที่ ประชาชนทั้งภายในและภายนอกจะได้อานิสงค์จากตรงนี้เรื่องเศรษฐกิจและความเป็นอยู่” นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลเขาฉกรรจ์ กล่าว
ขณะเดียวกัน นายมนัสวิน โตจีน สมาชิกสภาเทศบาล เขต 2 กล่าวว่า ในแผนพัฒนาของทางเทศบาลปัจจุบัน มีการบรรจุงบประมาณสำหรับก่อสร้างสกายวอล์คไว้เรียบร้อย และมีความพร้อมที่จะสามารถก่อสร้างได้ ขั้นตอนตอนนี้คือ รวบรวมเอกสาร รวบรวมข้อมูลทั้งหมด เพื่อที่จะประกอบเรื่องนำเสนอขออนุญาตกับทางอธิบดีฯ เพื่อดำเนินการก่อสร้างจุดชมวิวเรือนยอดไม้หรือสกายวอล์ค จึงจำเป็นต้องเข้ามาศึกษาพื้นที่จริงว่า จะกระทบกระเทือนอย่างไรบ้าง กระทบกับสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง ข้อมูลทั้งหมดนี้ จะต้องรวบรวมนำเสนอประกอบการพิจารณาการอนุญาตของอธิบดีกรมอุทยานฯ ซึ่งขณะนี้ทางสภาฯ ได้ตั้งงบประมาณไว้แล้ว เมื่อทุกอย่างลงตัว คำนวณค่าใช้จ่ายเสร็จเรียบร้อย ก็จะนำเสนอสภาเทศบาลอีกครั้งหนึ่ง
“ทางสภาเทศบาลเองได้คุยกันนอกรอบแล้วกับทางทีมผู้บริหาร ก็ยินดีสนับสนุนโครงการนี้ วันนี้จึงเป็นการสำรวจข้อมูลเบื้องต้นที่เกี่ยวข้องกับการนำเสนอขออนุญาตจากทางกรมอุทยานฯ ฉะนั้น การทำข้อมูลประกอบการพิจารณา จะต้องมีข้อมูลสมบูรณ์ทั้งหมด เพื่อให้อธิบดีพิจารณาความเป็นไปได้ ความเหมาะสม ซึ่งชาวอำเภอเขาฉกรรจ์ก็หวังเป็นอย่างยิ่ง แม้กระทั่ง คนทั้งจังหวัดสระแก้ว มองว่า โครงการนี้น่าจะสำเร็จ มันจะเกิดประโยชน์มหาศาลกับทั้งจังหวัด เบื้องต้น ค่าก่อสร้าง คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 70 ล้านบาท ค่าศึกษา-ออกแบบประมาณ 4% ของงบประมาณ ดังนั้น หากการก่อสร้างและดำเนินการใด ๆ ไม่เกิดการกระทบกระเทือนกับธรรมชาติมาก เป็นไปได้ว่าทางกรมอุทยานฯน่าจะสนับสนุน เพราะเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวอยู่แล้ว จะเกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจกับพี่น้องประชาชน จ.สระแก้ว และคาดว่า หากได้รับการอนุมัติ การก่อสร้างตั้งแต่เริ่มต้นจนจบโครงการ น่าจะใช้เวลาประมาณ 3 ปี”
————————-
ภาพโดย/เด่นชัย วิสุทธิ์วุฒิพงษ์ ทีมข่าวสระแก้ว
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: