สระแก้ว – เกษตรกรชาวไร่อ้อย จ.สระแก้ว ยังคงเผาทุกวัน โดยมีนายทุนผู้รับเหมาและเจ้าของโควต้า นำแรงงานต่างด้าวกัมพูชา เข้าจุดไฟจนแสงเพลิงลุกโชติช่วง แม้จะเป็นริมทางสาธารณะ ส่งผลกระทบให้มีฝุ่นละอองจากการเผาปลิวว่อนกระจายทั่วพื้นที่
เมื่อเวลา 20.00 น.คืนวันที่ 2 ธ.ค.66 ที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการลงพื้นที่ตรวจสอบการเผาไร่อ้อยในพื้นที่ จ.สระแก้ว ภายหลังโรงงานน้ำตาลเปิดรับผลผลิตอ้อยเข้าสู่ฤดูการหีบอ้อยได้เกือบ 2 เดือน ผลปรากกฎว่า เกษตรกรและผู้ประกอบการยังคงใช้วิธีการเผาไร่อ้อย เพื่อความสะดวกในการนำคนงานชาวกัมพูชาเข้าตัดทุกวัน ซึ่งจากการตระเวนพื้นที่ไร่อ้อยในพื้นที่ อ.วังสมบูรณ์ อ.วังน้ำเย็น และ อ.คลองหาด จ.สระแก้ว พบว่า มีการเผาไร่อ้อยเป็นจุด ๆ กระจายกันไป โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็นแปลง ๆ ละประมาณ 10-20 ไร่ เพื่อให้การตัดในแต่ละแปลงเสร็จได้ภายในวันเดียว ตั้งแต่ในช่วงเช้าของวันรุ่งขึ้นเป็นต้นไป
ทั้งนี้ สำหรับแปลงไร่อ้อยในภาพที่เห็น เป็นแปลงไร่อ้อยเนื้อที่ประมาณ 20 ไร่ ตั้งอยู่บริเวณรอยต่อระหว่างพื้นที่ ต.วังใหม่ อ.วังสมบูรณ์ กับพื้นที่ อ.คลองหาด จ.สระแก้ว โดยนายทุนผู้รับเหมาและเจ้าของโควต้า จะนำแรงงานต่างด้าวชาวกัมพูชาเกือบ 10 คน เข้าล้อมจุดไฟจนเกิดแสงเพลิงไฟลุกโชติช่วง แม้จะเป็นริมทางสาธารณะ ส่งผลให้มีฝุ่นละอองจากการเผาปลิวว่อนทั่วพื้นที่ โดยจากการสอบถามบริเวณจุดที่มีการเผาไร่อ้อยใน อ.คลองหาด พบว่า นายทุนจะหักค่าตัดอ้อยตันละ 400-440 บาท จากราคาที่นำส่งโรงงานราคาตันละประมาณ 1,000-1,200 บาท ขึ้นอยู่กับเปอร์เซ็นต์ความหวาน ขณะเดียวกัน ยังพบอีกว่า มีนายทุนบางรายอ้างว่าเป็นถึงสมาชิกสภาเทศบาลในพื้นที่ อ.คลองหาด ด้วย
อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับฤดูการหีบอ้อยเข้าโรงงานหรือตัดอ้อยประจำปี 2565/66 จะใช้เวลาประมาณ 4 เดือน ตั้งแต่ช่วงกลางเดือน ธ.ค. ถึงเดือน เม.ย.ของทุกปี ซึ่งตามปกติทางจังหวัดสระแก้ว จะตั้งคณะกรรมการระดับจังหวัด เพื่อกำหนดมาตรการป้องกันการเผาไร่อ้อยและรองรับความไม่ปลอดภัยจากการขนส่ง มีการประกาศห้ามเผา รวมทั้งมาตรการจูงใจเพื่อให้เกษตรกรหันไปตัดอ้อยสด เนื่องจากจะได้เงินเพิ่มเป็นค่าปัจจัยการผลิตอีกตันละประมาณ 120 บาท ก็ตาม รวมทั้งมีการบูรณาจัดกิจกรรมการรณรงค์ลดการเผา วันถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ (Field Day) และสาธิตเทคโนโลยีการจัดการเศษวัสดุการเกษตรทดแทนการเผา จ.สระแก้ว แล้วก็ตาม การเผายังคงเกิดขึ้นทุกวันกระจายไปทั่วพื้นที่ปลูกอ้อยกว่า 400,000 ไร่ ของ จ.สระแก้ว
————————–
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: