สระแก้ว – ปัญหาไข้เลือดออกพื้นที่ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ระบาดสูงสุด สสจ.เตรียมมาตรการเฝ้าระวังและตอบโต้ทันที โดยพบว่า จังหวัดสระแก้วติดอันดับจังหวัดที่พบการระบาด ลำดับที่ 40 ของประเทศไทย พร้อมทั้งเปิดศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขระดับจังหวัดและระดับอำเภอ 7 อำเภอระบาด 30 ตำบล ด้วย
เมื่อวันที่ 8 ก.ย.66 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายแพทย์ธราพงษ์ กัปโก นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสระแก้ว ได้รายงานสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในพื้นที่ จ.สระแก้ว ภายหลังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสระแก้ว ได้เฝ้าระวังและติดตามปัญหาดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด พบว่าประเทศไทยพบผู้ป่วย 79,475 ราย (120.09 ต่อแสนประชากร) เสียชีวิต 70 ราย อัตราป่วยตาย 0.09 ต่อแสนประชากร จังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ตราด (597.49 ต่อแสนประชากร) น่าน (451.40 ต่อแสนประชากร) จันทบุรี (432.98 ต่อแสนประชากร) เชียงราย (392.76 ต่อแสนประชากร) ระยอง (345.91 ต่อแสนประชากร) และจังหวัดสระแก้ว อยู่ลำดับที่ 40 (111.05 ต่อแสนประชากร) ซึ่งข้อมูลประจำสัปดาห์การระบาดที่ 34 ข้อมูล ณ วันที่ 26 สิงหาคม 2566 เขตสุขภาพที่ 6 พบผู้ป่วย สะสม 12,261 ราย อัตราป่วย 195.69 ต่อแสนประชากร เสียชีวิต 16 ราย อัตราป่วยตาย 0.13
ขณะเดียวกัน จังหวัดสระแก้ว อยู่ลำดับที่ 6 ของเขต (ข้อมูล ณ วันที่ 26 สิงหาคม 2566) จังหวัดสระแก้ว ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 2 กันยายน 2566 จ.สระแก้ว พบผู้ป่วย 625 ราย อัตราป่วย 111.05 ต่อแสนประชากร พบผู้ป่วยเพศชายมากกว่าเพศหญิง โดยพบเพศชาย 339 ราย เพศหญิง 286 ราย อัตราส่วนเพศชาย ต่อเพศหญิง เท่ากับ 1.19 : 1 อำเภอที่มีอัตราป่วยต่อแสนประชากรสูงสุดคือ อำเภออรัญประเทศ อัตราป่วยเท่ากับ 208.09 ต่อแสนประชากร ,รองลงมาคือ อำเภอคลองหาด 197.07 ,อำเภอวัฒนานคร 130.31 ,อำเภอเมืองสระแก้ว 101.28 ,อำเภอวังน้ำเย็น 85.06 ,อำเภอวังสมบูรณ์ 55.61 ,อำเภอเขาฉกรรจ์ 55.41 ,อำเภอตาพระยา 48. 78 ,อำเภอโคกสูง 18.28 พบรายงานผู้ป่วยเสียชีวิต 1 ราย อัตราป่วยตาย 0.16 ที่อำเภออรัญประเทศ
นอกจากนั้น ข้อมูลประจำสัปดาห์การระบาดที่ 35 เนื่องจากจังหวัดสระแก้ว เกิดการระบาดตามเกณฑ์และเปิดศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขระดับจังหวัดและระดับอำเภอ 7 อำเภอระบาด 30 ตำบล ได้แก่ อำเภออรัญประเทศ อำเภอเมืองสระแก้ว อำเภอตาพระยา อำเภอวัฒนานคร อำเภอวังสมบูรณ์ อำเภอคลองหาด และอำเภอเขาฉกรรจ์ โดยใช้มาตรการ/การดำเนินงานโรคไข้เลือดออก ประกอบด้วย 1.การเฝ้าระวังและการตอบโต้ กรณีเกิดโรคไข้เลือดออกในพื้นที่ ดำเนินการควบคุมโรคตามมาตรการ 3 3 1 และเตรียมความพร้อมเพื่อป้องกันโรคไข้เลือดออกอย่างเข้มงวด คือ 3 = แจ้งพื้นที่ที่พบผู้ป่วย ภายใน 3 ชม. , 3 = อสม. ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ภายใน 3 ชม. และ 1 = ทีม SRRT ควบคุมโรค ภายใน 1 วัน
อย่างไรก็ตาม สำหรับการรณรงค์เพื่อป้องกันการระบาดดังกล่าว มีกิจกรรมจิตอาสาพัฒนาสิ่งแวดล้อมและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย เน้นรณรงค์ในวันสำคัญแต่ละเดือน เพื่อตัดวงจรชีวิตยุงลาย รณรงค์ปรับปรุงสิ่งแวดล้อม ใส่ทรายทีมีฟอส (temephos) กำจัดลูกน้ำยุงลาย และฉีดพ่นหมอกควันและสารเคมี อสม.ประเมิน HI/CI รายงานทุกวันศุกร์ ทุกอำเภอจัดกิจกรรมรณรงค์โรคไข้เลือดออก ใน 3 Setting ได้แก่ 1 ตำบล 1 วัด และ 1 โรงเรียน ของทุกเดือน และสรุปผลการดำเนินการจัดกิจกรรม เป้าหมายค่า HI = 0 , CI = 0 และ 4.ขอให้ทุกพื้นที่สื่อสารความเสี่ยง ห้ามใช้ยาในกลุ่ม NSAIDs หรือ ยาแอสไพริน ไอบูโพรเฟน ในผู้ป่วยกรณีสงสัยโรคไข้เลือดออกทุกราย และให้ทุกหน่วยงานประชาสัมพันธ์และเข้มงวดมาตรการ 3 เก็บ 3 โรค ได้แก่ เก็บบ้าน/โรงเรียน ให้สะอาด เก็บภาชนะที่มีน้ำขังเพื่อป้องกันยุงลายวางไข่ เก็บขยะภายในบ้าน/โรงเรียน ให้เรียบร้อย กรณีที่ต้องการสอบถามข้อมูลกรณีดังกล่าวได้ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสระแก้ว 037-245-151-4
————————-
ภาพ/สสจ.สระแก้ว
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: