สระแก้ว – ชาวบ้านร้องกรมศิลปากร สำนักศิลปากรที่ 5 ปราจีนบุรี ตรวจสอบการออกหนังสือรับรองให้ก่อสร้างโรงงานน้ำตาลและโรงงานไฟฟ้าชีวมวล ขนาดใหญ่ ห่างจากปราสาทหินบ้านน้อยฯ โบราณสถานขอม เพียง 1 กม.
เมื่อวันที่ 16 ต.ค.66 ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดสระแก้วว่า ผู้ใช้เฟซบุ๊กว่า “ศุภกฤต พรรคนาวิน” ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว ซึ่งมีจุดประสงค์ เพื่อให้กรมศิลปากรตรวจสอบว่า เหตุใดเจ้าหน้าที่ในสำนักศิลปากรที่ 5 ปราจีนบุรี ที่ดูแลรับผิดชอบโบราณสถานในจังหวัดสระแก้ว จึงออกหนังสือรับรองให้มีการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลขนาดใหญ่ ที่มีกำลังการผลิต 20,400 ตันอ้อยต่อวัน และโรงงานผลิตไฟฟ้าขนาด 84 เมกะวัตต์ ในพื้นที่บ้านห้วยพะใย ต.ผักขะ อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว ซึ่งโรงงานทั้งสองโรงงาน ตั้งอยู่ห่างจากปราสาทหินบ้านน้อย ห้วยพะใย โบราณสถานขอม ไม่ถึง 1 กิโลเมตร รวมทั้ง ในรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ยังไม่มีการกล่าวถึงผลกระทบต่อตัวปราสาท โดยเฉพาะเรื่องของฝุ่น, ควันและแรงสั่นสะเทือนจากรถยนต์ ที่จะมีขนอ้อยเข้าโรงงาน จึงต้องการให้กรมศิลปากร ส่งนักวิชาการที่เป็นกลาง ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบและพิจารณาศึกษาถึงผลกระทบต่อตัวปราสาท โบราณสถานดังกล่าว และเหตุใดสำนักศิลปากรที่ 5 ปราจีนบุรี จึงออกหนังสือรับรอง หากไม่มีการดำเนินการใด ๆ ชาวสระแก้วคงต้องพิจารณาเอาผิดทางกฏหมายกับกรมศิลปากรด้วย
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบข้อมูลโบราณสถานดังกล่าว พบว่า นางเป็นภัสญ์ ศรีสุวิทธานนท์ นักโบราณคดีปฏิบัติการ กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 5 ปราจีนบุรี ได้เขียนถึงปราสาทหินบ้านน้อย ในเว็บไชต์ของกรมศิลปากร เมื่อปี 2563 ว่า เป็นอโรคยาศาลา สร้างด้วยศิลาแลงและอิฐ ปัจจุบันเป็นอโรคยาศาลา เพียงแห่งเดียว ที่สำรวจพบในจังหวัดสระแก้ว สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ระหว่าง ค.ศ.1181-1218 โดยแผนผังของโบราณสถาน ประกอบด้วย ปราสาทประธานและบรรณาลัย ที่ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว มีโคปุระหรือซุ้มประตูทางด้านทิศตะวันออกเพียงด้านเดียว ภายในโคปุระ แบ่งเป็นห้องทิศเหนือและห้องทิศใต้ ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของกำแพงแก้ว เป็นที่ตั้งของบารายรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขอบบารายกรุด้วยศิลาแลง เป็นขั้นบันไดลาดลงไปที่ก้นสระ
นอกจากนี้ ยังพบอีกว่า บารายที่มีคันดินล้อมรอบบริเวณด้านทิศเหนือ และทิศตะวันออกของอโรคยาศาลา โดยบารายด้านทิศเหนือกว้างประมาณ 45 เมตร ยาวประมาณ 60 เมตร บารายด้านทิศตะวันออก กว้างประมาณ 110 เมตร ยาวประมาณ 225 มตร กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็์นโบราณสถานปราสาทหินบ้านน้อย ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 115 ตอนพิเศษ 38 ง วันที่ 20 พฤษภาคม 2541 เนื้อที่โบราณสถาน 45 ไร่ 95 ตารางวา ในปี พ.ศ.2563 กรมศิลปากร โดยสำนักศิลปากรที่ 5 ปราจีนบุรี ได้ดำเนินงานทางโบราณคดีบริเวณปราสาทหินบ้านน้อย โดยได้ทำการขุดค้น ขุดตรวจและขุดแต่ง ทั้งภายในและภายนอกกำแพงแก้ว รวมทั้งบารายด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อทำการศึกษาเกี่ยวกับรูปแบบสถาปัตยกรรมของโบราณสถาน สำหรับเป็นข้อมูลประกอบการออกแบบบูรณะเสริมความมั่นคง และปรับปรุงภูมิทัศน์ บริเวณโบราณสถานเพื่อพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว เรียนรู้ ที่สำคัญของจังหวัดสระแก้วในอนาคต
ข่าวน่าสนใจ:
ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า ปัจจุบันโรงงานน้ำตาลขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง ที่มีข้อมูลเบื้องต้นว่า ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างในพื้นที่ขณะนี้ และการดำเนินการอยู่ระหว่างการถมดิน ปรับพื้นที่่ และวางสาธารณูปโภคโครงสร้าง เพื่อปรับพื้นที่สำหรับก่อสร้างโรงงาน ซึ่งได้เริ่มดำเนินการมาแล้วหลายเดือนตั้งแต่ต้นปี 2566 คาดว่าจะสามารถลงมือก่อสร้างตัวอาคารโรงงานและอาคารประกอบอื่น ๆ ได้ในเร็ววันนี้ ขณะเดียวกัน มีชาวบ้านในพื้นที่ ม.4 บ้านห้วยพะใย ต.ผักขะ อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว และหมู่บ้านใกล้เคียงที่มีความเป็นห่วงโบราณสถานดังกล่าว ต้องการให้มีการตรวจสอบการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่ผ่านมาว่า ครบถ้วนและถูกต้องหรือไม่
อย่างไรก็ตาม นายถนอม เก้าผม และ นางประมวน รุประมาณ ชาวบ้านกุดตะกร้า ม.10 ต.ผักขะ อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว ซึ่งเป็นชาวบ้านในพื้นที่ใกล้เคียงโบราณสถานปราสาทหินบ้านน้อย ห้วยพะใย และมีความเป็นห่วงการดำเนินการก่อสร้างของโรงงานดังกล่าว ซึ่งแม้ชาวบ้านส่วนหนึ่งจะอยากให้มีโรงงาน เพื่อรับซื้อพืชผลทางการเกษตรของประชาชน แต่ก็ขอให้ดูแล และให้ความสำคัญกับโบราณสถานที่อยู่คู่กับคน ต.ผักขะ อ.วัฒนานคร มาหลายร้อยหลายพันปี หลังจากนี้ในฐานะที่เป็นคนพื้นที่และอยากเห็นความเจริญในพื้นที่ รวมทั้งชาวบ้านจะช่วยกันตรวจสอบการดำเนินการของโรงงานต่อไป
—————————–
ข่าว-ภาพโดย/สมยศ สินธุพันธ์ ,เด่นชัย วิสุทธิ์วุฒิพงษ์ , สมศักดิ์ ปัญญาสัย ทีมข่าวสระแก้ว
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: