สระแก้ว – ตัวแทนเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยทั่วประเทศ สุดทน จากปัญหาความเดือดร้อนจากช้างป่า รุกพื้นที่การเกษตรทั่วประเทศ บุกยื่นหนังสือประธานกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาติดตามผลการดำเนินงานและศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาช้างป่าอย่างยั่งยืน รวมทั้งมาตรการเยียวยาความเสียหายให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบ เสนอรัฐบาลแก้ปัญหาเร่งด่วน ระยะสั้นและระยะยาว ส่วนนายกสมาคมเกษตรกรชายแดนบูรพา ระบุเตรียมออกมาเคลื่อนไหว หากรัฐบาลไม่ให้ความสนใจ
เมื่อวันที่ 22 เม.ย.67 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังตัวแทน 4 สมาคมเกษตรกรชาวไร่อ้อยทั่วประเทศ ประกอบด้วย สหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย ชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน สหสมาคมชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย และสมาพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย ได้ส่งตัวแทนเกษตรกรทั่วประเทศ ประมาณ 50 คน เดินทางไปยื่นหนังสือต่อ นายศักดิ์ชาย ตันเจริญ ประธานกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาติดตามผลการดำเนินงานและศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาช้างป่าอย่างยั่งยืน รวมทั้งมาตรการเยียวยาความเสียหายให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบ เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมี นายเนย สุขประเสริฐ นายกสมาคมเกษตรกรชายแดนบูรพา สาขาปราจีนบุรี เป็นผู้ยื่นหนังสือและแถลงข่าวร่วมกับคณะกรรมาธิการแก้ไขปัญหาช้างป่า เนื่องจากจังหวัดปราจีนบุรี เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากช้างป่ามากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ ซึ่งในการยื่นหนังสือครั้งนี้ มีประธานและรองประธาน รวมทั้งคณะกรรมาธิการรับเรื่องปัญหาดังกล่าว ประมาณ 10 คน พร้อมกับยืนยันว่า จะเร่งดำเนินการพิจารณาหาแนวทางแก้ไขปัญหาช้างป่า อย่างรวดเร็วที่สุด เนื่องจากมีเวลาในการศึกษาและพิจารณาข้อมูลประมาณ 3-4 เดือนเท่านั้น
ทั้งนี้ นายเนย สุขประเสริฐ ตัวแทน 4 สถาบันชาวไร่อ้อยทั่วประเทศ ได้กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า จากมติ ครม.เมื่อวันที่ 5 ต.ค.66 ที่ผ่านมา ได้กำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาช้างป่าและช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ 6 มาตรการ เห็นว่า มีปัญหาหลายประการ เช่น ข้อ 1. การเสียงบประมาณป้องกันช้างป่าออกจากพื้นที่อนุรักษ์ สร้างรั้วไฟฟ้าหรือขุดคูกันช้าง นอกจากสูญเสียงบประมาณ ไม่คุ้มค่า และยังไม่สามารถป้องกันช้างป่าได้จริง ข้อที่ 2. งบประมาณระยะเร่งด่วน เพื่อสนับสนุนการลาดตระเวน การตั้งชุดเฉพาะกิจเฝ้าระวัง มีการผลักภาระไปที่องค์กรส่วนท้องถิ่น ซึ่งถือว่ามีน้อยมาก จนกระทั่งต้องเรี่ยไร มาม่า มาต้มกินกันเอง รวมทั้งขาดแคลน อุปกรณ์ ค่าพาหนะน้ำมัน อีกด้วย ข้อที่ 3. เงินช่วยเหลือเยียวยา ให้กับชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบ ไม่เป็นจริงและล่าช้า หน่วยงานขาดการประสานงานกันอย่างเป็นระบบ
“ดังนั้น ในฐานะตัวแทนสมาคมชาวไร่อ้อยทั่วประเทศ จึงได้รวบรวมข้อเสนอเพื่อให้ทางรัฐบาล โดยเฉพาะต่อ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้รับเรื่องไปแล้ว รวมทั้งข้อเสนอต่อ กรรมาธิการแก้ไขปัญหาช้างป่า แบ่งเป็น 1. ระยะเวลาเร่งด่วน ให้เพิ่มงบประมาณและการเยียวยาความเสียหายให้สอดคล้องกับความเป็นจริงและให้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น 2. จัดตั้งกองทุนเยียวยาผู้ประสบภัยจากการระดมทุนหลายภาคส่วน เพื่อให้เกิดความคล่องตัวและเป็นธรรมกับประชาชนผู้เสียหาย และ 3. ให้ดำเนินการสำรวจแนวป้องกันช้างป่าทั้งนอกและในเขตอนุรักษ์ เพื่อกำหนดแนวทางแก้ไขได้อย่างถูกต้องและตรงกับพื้นที่ ซึ่งแต่ละแห่งมีปัญหาที่เหมือนกัน ส่วนมาตรการระยะสั้น ก็คือการจัดตั้งและให้ความรู้กับเครือข่ายภาคประชาชนในพื้นที่ ให้เกิดการทำงานแบบบูรณาการและมีความรู้ในการแก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างจริงจัง สำหรับระยะกลาง ได้เน้นให้สำรวจพื้นที่ประชาชนตามแนวรอยต่อเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนสามารถปลูกพืชอาหารช้าง เพื่อไม่ให้ช้างบุกรุกลงมาไกลกว่าเดิม เพราะปัจจุบันมีการปลูกพืชประเภทที่ช้างกินไม่ได้ เช่น ยูคาลิปตัส ทำให้ช้าง ต้องออกมาหากินระยะไกลขึ้นเรื่อย ๆ ” นายเนย กล่าวและว่า
สำหรับระยะยาวนั้น แบ่งเป็น 2 ขั้นตอน ก็คือ มีการเสนอให้แก้กฎหมายให้เวนคืนพื้นที่เกษตรกรที่อยู่รอบบริเวณกันชนแนวเขตอนุรักษ์ และตั้งงบประมาณให้ประชาชน ปลูกพืชอาหารสัตว์ที่ช้างชอบกิน หรือปลูกไม้ 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง ตามแนวพระราชดำริ เพื่อให้ช้างมีอาหารกินอย่างพอเพียง และพัฒนาแหล่งพื้นที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ มีศูนย์วิจัยและดูแลช้างป่า ทำให้ประชาชนมีรายได้และหวงแหนพื้นที่ป่า และมีความเมตตาต่อช้าง ข้อสุดท้ายก็คือ ให้กรรมาธิการและรัฐบาล ช่วยแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับกฎหมายให้เกิดความสะดวกและรวดเร็ว ในการทำงานแก้ไขปัญหาในระดับพื้นที่ มิใช่อ้างว่า ทำไม่ได้เพราะติดขัดในเรื่องข้อกฎหมายตามที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
ผู้สื่อข่าวได้สอบถามความเห็นไปยัง นายสมิทธิ์ เย็นสบาย ที่ปรึกษาผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี ด้านสิ่งแวดล้อมภาคประชาชนจังหวัดสระแก้ว ได้ให้ความเห็นต่อเรื่องนี้ว่า ปัญหาต้นตอหลักใหญ่ของปัญหาช้างป่า น่าจะสืบเนื่องจากการปล่อยให้ป่าถูกทำลาย รุกพื้นที่ของช้าง จนกระทั่งอาหารของช้างป่าไม่เพียงพอ ซึ่งกรมป่าไม้และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธ์พืช จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบอย่างจริงจัง และนอกจากปัญหาเรื่องอาหารช้าง ยังมีปัญหาเรื่องภัยแล้ง อันเกิดจากปัญหาภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงในระยะ 3-4 ปีที่ผ่านมา มีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ช้างจึงขาดทั้งน้ำและอาหาร ดังนั้น ข้อเสนอของกลุ่มเกษตรกรชาวไร่อ้อยฯ จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจและเป็นการแก้ไขปัญหาที่น่าชมเชยว่า ไม่ได้เรียกร้องแต่เงินเยียวยาเท่านั้น
ทางด้าน นายชุติพงศ์ พิภพภิญโญ สมาชิกพรรคก้าวไกล จังหวัดระยอง เขต 4 ในฐานะรองประธานคนที่ 1 คณะกรรมาธิการแก้ไขปัญหาช้างป่าฯ ได้ให้ความเห็นว่า จังหวัดระยองเอง ก็มีปัญหาเรื่องช้างป่าเช่นเดียวกับหลาย ๆ พื้นที่ เรื่องนี้คงต้องกลับไปดูว่า ปัญหาต้นตอของเรื่องปัญหาช้างป่าคืออะไร และสถานการณ์ตอนนี้มีการเปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว โดยส่วนตัวแล้ว ตนเองเห็นว่า ต้องดูแลแก้ไขปัญหาของเกษตรกรให้เหมาะสมและรวดเร็วกว่าที่เป็นอยู่ รวมทั้ง ถ้ามีข้อกฎหมายใด ๆ ที่เป็นอุปสรรคในการที่จะดูแลแก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชน จำเป็นก็ต้องแก้ไข เพราะขณะนี้สภาพภูมิทัศน์ของป่ามีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก เราคงต้องมีมาตรการที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน รวมทั้งหากมีกฎหมายใด ๆ ที่จำเป็นต้องแก้ไข เพื่อให้เกิดการดูแลพี่น้องประชาชนให้มากขึ้น ก็ต้องทำ รวมทั้งการกำหนดพื้นที่เพื่อให้ช้างมีพื้นที่ในการดำรงชีพเผ่าพันธุ์ต่อไป ก็ต้องทำควบคู่กันไปด้วย
อย่างไรก็ตาม นายมนตรี คำพล นายกสมาคมเกษตรกรชายแดนบูรพา จ.สระแก้ว-ปราจีนบุรี ได้กล่าวอย่างเคร่งเครียดสำหรับกรณีของช้างป่าฯ ว่า หากรัฐบาลไม่ดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริงจัง ในที่สุดเกษตรกรทั่วประเทศ คงจะทนไม่ไหว และต้องออกมาเคลื่อนไหวอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะถือว่า เราดำเนินการไปตามขั้นตอนที่ถูกต้องแล้ว แต่ภาครัฐไม่ให้ความสนใจ เราก็คงจำใจที่ต้องออกมาเรียกร้องอย่างถึงที่สุด
————————————-
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: