สระแก้ว – ชาวบ้านในพื้นที่ ต.หันทราย อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว จำนวนกว่า 200 คน ลุกฮือต้าน โรงงานไฟฟ้าพลังงานก๊าซชีวภาพฯ หลังแอบลักลอบติดตั้งเครื่องตรวจวัดอากาศและทำอีไอเอไม่โปร่งใส โดยว่าจ้างเจ้าของสถานที่จำนวน 14,000 บาท เพื่อติดตั้งเครื่อง จำนวน 7 วัน 2 จุด ซึ่งหลังเจรจากับนายอำเภอและศูนย์ดำรงธรรมฯ พร้อมกับแจ้งความไว้เป็นหลักฐานแล้ว แต่บริษัทที่ติดตั้งเครื่องไม่มาดำเนินการรื้อถอนออกไป ชาวบ้านจึงรวมตัวกันเข้าไปดำเนินการปิดเครื่องตรวจวัดด้วยตนเองในช่วงค่ำ
เมื่อค่ำวันที่ 12 ก.พ.62 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ ต.หันทราย อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ภายหลังกลุ่มชาวบ้านในพื้นที่บ้านหันทราย ซึ่งต่อต้านและคัดค้านการก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าจากพลังงานก๊าซชีวภาพ ร่วมกับพลังงานแสงอาทิตย์ ของบริษัทซุปเปอร์โซล่าร์ เอนเนอร์ยี่ จำกัด ในพื้นที่ ต.หันทราย อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว โดยมีนายศิริวัฒน์ วรนาม ผอ.โรงเรียนบ้านหันทราย เลขานุการชมรมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ต.หันทราย และนายศักดิ์สิทธิ์ ธนจำรัส กำนันตำบลหันทราย เป็นแกนนำ พร้อมชาวบ้าน จำนวนประมาณ 200 คน ได้มารวมตัวกัน ที่ศาลาประชาคมหมู่บ้าน บ้านหันทราย ม.6 ต.หันทราย อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว เพื่อเรียกร้องให้บริษัทฯ นำเครื่องวัดคุณภาพอากาศที่ใช้ประกอบการขอยื่นเอกสารการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ใหม่ จำนวน 2 เครื่องออกจากพื้นที่
ข่าวน่าสนใจ:
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัทดังกล่าว ติดตั้งที่เครื่องตรวจวัดอากาศที่บ้านของ นางอัมรา หันทะยุง บ้านเลขที่ 27 ม.6 ต.หันทราย อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว จำนวน 1 เครื่อง และที่กลางทุ่งนาอีก 1 เครื่อง โดยในที่นาซึ่งอยู่ห่างจากหมู่บ้านเล็กน้อยของเป็นที่ดินของนางอัมรา เช่นกัน โดยชาวบ้านส่วนใหญ่เรียกร้อง ให้บริษัทมารื้อถอนเครื่องดังกล่าวออกไปทันที โดยมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ,เจ้าหน้าที่ทหารจาก ร้อย รส.มทบ.19 , และเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สภ.อรัญประเทศ มาคอยดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยด้วย
นายศิริวัฒน์ วรนาม ผอ.โรงเรียนบ้านหันทราย เลขานุการชมรมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ต.หันทราย กล่าวว่า การเจรจากับหน่วยงานและกลุ่มชาวบ้านนั้น ในส่วนของบริษัทฯ ไม่ยอมส่งตัวแทนมาร่วมเจรจา กลุ่มชาวบ้านจึงได้เดินทางไปดูสถานที่ ที่ติดตั้งเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศทั้ง 2 จุด พร้อมทั้งมอบหมายให้ ตนเองและกำนัน ต.หันทราย พร้อมตัวแทนชาวบ้านเดินทางไปที่ว่าการอำเภออรัญประเทศ เพื่อพบกับ นายสวนิต สุริยกุล ณ อยุธยา นายอำเภออรัญประเทศ เพื่อให้บริษัทฯ มารับทราบปัญหาที่ชาวบ้านเรียกร้องให้รื้อถอนเครื่องดังกล่าวออกไป ภายในวันที่ 12 ก.พ.62 เนื่องจากดำเนินการโดยพลการ ไม่มีการแจ้งชาวบ้านแต่อย่างใด โดยใช้วิธีเสนอให้ผลตอบแทนกับเจ้าของสถานที่ในการติดตั้งเครื่อง จุดละ 1,000 บาท จำนวน 7 วัน รวม14,000 บาท
สำหรับผลการเจรจากับ นายสวนิต สุริยกุล ณ อยุธยา นายอำเภออรัญประเทศ และศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดสระแก้ว ซึ่งได้พยายามติดต่อประสานงานไปที่ บริษัทที่มาติดตั้งเครื่องดังกล่าว แต่ทางบริษัทไม่รับสาย และได้ปิดโทรศัพท์ไม่สามารถติดต่อได้ ทางนายอำเภอ จึงให้ นายศิริวัฒน์ วรนาม ตัวแทนชาวบ้านฯ เดินทางไปแจ้งความและลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน ที่ สภ.อรัญประเทศ ว่าถ้าทางบริษัทไม่มารื้อถอนเครื่องภายใน เวลา 17.00 น. จะให้กลุ่มชาวบ้านดำเนินการรื้อถอนเครื่องออกเอง
ล่าสุด เมื่อช่วงค่ำที่ผ่านมา ชาวบ้านทั้งหมดได้เดินทางไปรวมตัวยังจุดที่มีการติดตั้งเครื่องตรวจวัดอากาศดังกล่าวอีกครั้ง พร้อมกับกรูเข้าไปยังจุดที่มีการติดตั้งเครื่อง เพื่อถอดปลั๊กหยุดการเดินเครื่องไม่ให้เครื่องตรวจวัดอากาศทำงานอีกต่อไปทันที หลังเจ้าหน้าที่ของบริษัทดังกล่าว ไม่มาดำเนินการขนย้ายเครื่องออกไป ตามที่ชาวบ้านเรียกร้อง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับบริษัทดังกล่าว เคยมีการประชุมรับฟังความเห็นประกอบการขอจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรือ EIA แล้ว จำนวน 2 ครั้งโดยครั้งที่ 2 ทำที่ห้องประชุมอำเภออรัญประเทศ เมื่อ 21 พ.ค.61 และครั้งที่ 2 ที่ศาลาวัดสุธรรมาวาส ม.9 บ.ทางหลวง ต.วัฒนานคร อ.วัฒนานคร เมื่อวันที่ 23 พ.ค.61 แต่ชาวบ้านมีการคัดค้านไม่ยินยอม ทำให้ฝ่ายราชการต้องให้บริษัทดังกล่าวจัดทำ EIA ใหม่ ซึ่งบริษัทฯ จึงมีการติดตั้งเครื่องวัดคุณภาพอากาศครั้งแรก เมื่อวันที่ 28 ส.ค.61 แต่ถูกชาวบ้านกว่า 1,000 คนรวมตัวต่อต้านและต้องถอนเครื่องออกไป และมีการนำเครื่องมาติดตั้งอีกเป็นครั้งที่ 2 แต่ก็ถูกชาวบ้านชุมนุมต่อต้านดังกล่าวเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม สำหรับโรงไฟฟ้าจากพลังงานก๊าซชีวภาพร่วมกับพลังงานแสงอาทิตย์ ในพื้นที่ ต.หันทราย ของบริษัทซุปเปอร์โซล่าร์ เอนเนอร์ยี่ จำกัด มีเนื้อที่ประมาณ 500.78 ไร่ ใช้เงินลงทุนประมาณ 1,480 ล้านบาท โดยพื้นที่ก่อสร้างอยู่ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว และปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) โดยมีแผนการก่อสร้างจะใช้เวลา 18 เดือนคาดว่า จะก่อสร้างได้ในปี 2563 และจะแล้วเสร็จเปิดใช้งานได้ในปี 2564 โดยโรงงานไฟฟ้าแห่งนี้เตรียมสร้างขึ้นมาเพื่อรองรับการใช้ไฟฟ้าของโรงงานอุตสาหกรรมในเขตเศรษฐกิจพิเศษ และเป็นการผลิตไฟฟ้าโดยใช้พลังงานหมุนเวียน 2 รูปแบบผสมผสานกัน ประกอบด้วยในช่วงกลางคืนจะผลิตกระแสไฟฟ้าโดยใช้ก๊าซชีวภาพที่รับซื้อจากภายนอกมาเผาไหม้เพื่อผลิตไฟฟ้าขนาด 12 เมกกะวัตต์ และในช่วงกลางวันจะผลิตไฟฟ้าโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์อีก 20 เมกกะวัตต์ เพื่อขายไฟให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จำนวน 16 เมกกะวัตต์ ที่เหลือใช้ในกิจกรรมภายในโครงการ
—————————-
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: