สระแก้ว – รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมและสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายลงพื้นที่ จ.สระแก้ว-บุรีรัมย์ ถกปัญหาการเผาอ้อยทำลายสิ่งแวดล้อม เพื่อตั้งรับตลาดต่างประเทศกีดกันไทย โดยเกษตรกรเรียกร้องขอให้มีการแก้ไขหลักเกณฑ์การเข้าถึงเงินกู้เพื่อซื้อรถตัดอ้อย สำหรับแก้ปัญหาเผาอ้อยในระยะยาวที่ส่วนใหญ่ตกอยู่ในมือของนายทุนโรงงาน
นายศิริรุจ จุลกะรัตน์ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นายวิฤทธิ์ วิเศษสินธุ์ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย พร้อมด้วยคณะเกือบ 20 คน เดินทางลงพื้นที่ จ.สระแก้ว เพื่อติดตามสถานการณ์อ้อย น้ำตาลทราย และอุตสาหกรรมต่อเนื่องในประเทศ สำหรับรับฟังปัญหาการรับอ้อยสดเข้าสู่โรงงาน กระบวนการผลิตและการส่งเสริมให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยใช้เครื่องจักรกลเพื่อลดต้นทุนการผลิตและรับทราบปัญหาการเผาอ้อยในพื้นที่ จ.สระแก้วและบุรีรัมย์ ระหว่างวันที่ 25-27 ก.พ.62 โดยมีการเข้าชมโรงงานและพูดคุยปัญหาจากโรงงานน้ำตาลและอ้อยตะวันออกจำกัด ที่ อ.วังสมบูรณ์ จ.สระแก้ว พูดคุยกับตัวแทนเกษตรกรชาวไร่อ้อย ที่สมาคมเกษตรกรชายแดนบูรพา อ.คลองหาด พร้อมลงพื้นที่แปลงปลูกอ้อยที่แก้ปัญหาการเผาอ้อยด้วยการใช้รถสางใบอ้อย เพื่อให้คนงานชาวกัมพูชา สามารถตัดอ้อยสดได้ง่ายขึ้นด้วย
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การลงพื้นที่ดังกล่าว พบว่าจังหวัดสระแก้วมีพื้นที่ปลูกอ้อยมากถึง 470,000 ไร่ แต่ต้นทุนการผลิตสูงกว่าราคาอ้อยที่ขายได้ในปัจจุบัน รวมทั้งเกิดปัญหาประเด็นการเผาอ้อยไฟไหม้ และคาดว่าจะเกิดปัญหาการกีดกันทางการค้าในอนาคตตามมา เนื่องจากเป็นต้นเหตุของการทำลายสิ่งแวดล้อมหรือเป็นกิจการที่สร้างมลภาวะให้สังคมและสภาวะโลกร้อน จึงมีการถกเถียงกันในประเด็นเหล่านี้เป็นหลัก เพื่อหาแนวทางแก้ไขให้เกษตรกรเข้าถึงเครื่องมือและเครื่องจักรโดยเฉพาะรถตัดอ้อยได้มากกว่าในช่วงที่ผ่านมา
ข่าวน่าสนใจ:
รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ระบุว่า ปัญหาการเผาอ้อยในประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลเป็นอันดับ 2 ของโลก หากอันดับ 1 อย่างประเทศบราซิล หยิบประเด็นนี้ขึ้นมาก็จะเกิดปัญหาอย่างแน่นอนเพื่อไม่ให้เราส่งออกได้ ถ้าส่งออกไม่ได้ประเทศไทยเสร็จจริง ๆ เชื่อว่า อนาคตมีการหยิบมาใช้แน่นอน จึงอยากเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยกันรณรงค์เรื่องนี้ แม้จะมีกฎหมายบังคับใช้อยู่แล้วก็ตาม
“การเผาอ้อยจนก่อให้เกิดมลภาวะเยอะ ๆ เค้าอาจจะใช้วิธีการที่จะแบน หรือไม่คู่แข่งเราเองนั่นแหละโดยเฉพาะบราซิล ซึ่งเค้าก็ไม่ค่อยได้เผา อาจจะหยิบประเด็นพวกนี้ขึ้นมาแบน ทำให้เราขายไม่ได้ พอขายไม่ได้คราวนี้ล่ะเกษตรกรก็จะเดือดร้อน ซึ่งปีที่ผ่านมา ราคาขั้นต้นก็ต่ำเหลือเกิน ทำยังไงให้ราคามันสูงขึ้น เป็นเรื่องซึ่งเกษตรกรส่วนหนึ่งจะต้องพัฒนาให้มากขึ้น” รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวและว่า
การเผาอ้อยจึงเป็นความกังวลที่ทุกประเทศมีปัจจัยในเรื่องของสิ่งแวดล้อม เป็นปัจจัยที่สำคัญที่ทุก ๆ ประเทศหยิบยกขึ้นมาเพื่อกีดกันทางการค้า ฉะนั้นประเด็นเรื่องของควันพิษ หมอกควันทั้งหลาย อาจจะเป็นประเด็นที่คู่ค้าหยิบยกขึ้นมาในอนาคตได้
นายมนตรี คำพล นายกสมาคมเกษตรกรชายแดนบูรพา กล่าวว่า ขณะนี้เกิดปัญหาเกษตรกรเข้าไม่ถึงเครื่องมือโดยเฉพาะรถตัดอ้อย เนื่องจากหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการตั้งขึ้นไม่เอื้อให้ชาวไร่ซื้อเองได้ อีกทั้งโรงงานไม่ยอมค้ำประกันให้ ทำให้ที่ผ่านมาแม้จะมีการจัดสรรงบประมาณสำหรับให้กู้เงินเพื่อซื้อรถตัดอ้อยปีละ 2,000 ล้าน รวม 6,000 ล้าน ดอกเบี้ยร้อยละ 1-2 มาหลายปี แต่มีเกษตรกรที่สามารถซื้อรถตัดอ้อยได้จริง ๆ เพียง 2 รายเท่านั้น ที่เหลือไปอยู่กับโรงงานหมด
นายมนตรี กล่าวอีกว่า ตอนนี้รถตัดอ้อยไปอยู่กับโรงงาน ซึ่งคนที่จะตัดได้ต้องมีการเปิดหัวคิวหัวแปลงอีก นี่คือปัญหาของชาวไร่ จึงอยากฝากทางประธานกรรมการบริหารว่า อยากให้ไปพิจารณาแก้ไขกฎเกณฑ์ให้ชาวไร่ จึงจะไปลดอ้อยเผาได้ ซึ่งปีนี้แรงขนาดนี้เชื่อว่าปีหน้าจะแรงมากกว่านี้อีก รู้ว่าเป็นวิถีชีวิตของชาวบ้านและจะจับด้วย ซึ่งถ้าเขาจับคนเผาม็อบ 5,000 คนเกลื่อนศาลากลางแน่นอน ชาวไร่บอกว่า นายกฯสั่งคำเดียวไปหมด เพราะเค้าเดือดร้อนจริง แต่ถ้าแก้ให้เค้าได้เครื่องจักร อนาคตคงจะลดได้ ซึ่งดูจากตัวเลขสระแก้วตอนนี้อ้อยที่ตัดสดมีแค่ 33 เปอร์เซ็นต์ส่วนอ้อยเผามีถึง 67 เปอร์เซ็นต์
—————————-
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: