ปราจีนบุรี – ปราจีนบุรีทำพิธีพลีกรรมตักน้ำศักดิ์สิทธิ์แหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ 2 แหล่ง ยุคทวารวดี อายุมากกว่า 1,560 ปี
เมื่อวันที่ 6 เม.ย.62 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พิธีพลีกรรมตักน้ำศักดิ์สิทธิ์ จ.ปราจีนบุรี โดยนายพิบูลย์ หัตถกิจโกศล ผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี กล่าวว่า จ.ปราจีนบุรี มีแหล่งน้ำในพิธีพลีกรรมตักน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ 2 แหล่ง ซึ่งมีนายพิบูลย์ หัตถกิจโกศล เป็นผู้พลีกรรมฯ จุดแรกคือ บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่โบราณสถานวัดสระมรกต ต.โคกไทย อ.ศรีมโหสถ จ.ปราจีนบุรี และใน จุดที่ 2 มีนายสัญชัย ขจรเวหาศน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี เป็นผู้พลีกรรมตักน้ำศักดิ์สิทธิ์โบราณสถานสระแก้ว ตั้งอยู่ใน ต.โคกปีบ อ.ศรีมโหสถ เพื่อนำไปทำพิธีปลุกเสกสำหรับใช้ในพิธีพระบรมราชาภิเษก ตั้งอยู่ระหว่างรอยพระพุทธบาทคู่ที่ใหญ่และเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย ขนาด 1.50 เมตร อยู่ในยุคก่อนประวัติศาสตร์สมัยทวารวดี อายุมากกว่า 1,560 ปี กับอโรคยาศาล ที่ยังหลงเหลือซากเมืองเป็นศิลาแลงให้เห็น เป็นอโรคยาศาล ในยุคของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ที่ปรารถนาให้พสกนิกรของพระองค์พ้นจากโรคภัยไข้เจ็บ
ทั้งนี้ บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ มีลักษณะเป็นบ่อกลมรัศมีรอบวงประมาณ 2 เมตร ขุดลึกลงในศิลาแลงมีน้ำสีเขียวใสสะอาดตลอดทั้งปีไม่แห้ง ในบ่อพบพระพุทธรูปสมัยทวารวดีและโบราณวัตถุอายุมากกว่า 1,560 ปี เป็นจำนวนมาก ซึ่ง จ.ปราจีนบุรี ได้นำน้ำจากบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ไปประกอบพระราชพิธีต่างๆ มาโดยตลอด
ข่าวน่าสนใจ:
ส่วนแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์จุดที่ 2 เป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์จากโบราณสถานสระแก้ว ตั้งอยู่ใน ต.โคกปีบ อ.ศรีมโหสถ อยู่นอกคูเมืองทางทิศเหนือ ห่างออกมาประมาณ 1,000 เมตร ลักษณะของสระแก้วเป็นสระน้ำรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ที่ขุดลงไปในชั้นศิลาแลงธรรมชาติ ขนาด 18X18 เมตร ทางลงสระอยู่ทางด้านทิศตะวันตก ที่ขอบสระของสระแก้วทางด้านทิศเหนือ มีการตัดศิลาแลงเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ยื่นเข้ามาในสระ มีบันไดทางลงด้านข้างทั้งสองข้าง ส่วนที่ผนังขอบสระแก้วมีภาพแกะสลักนูนต่ำเป็นสัญลักษณ์ และรูปสัตว์อยู่ภายในกรอบสี่เหลี่ยมได้แก่ ภาพช้าง สิงห์ มกร และงู จำนวน 29 กรอบภาพ มีรูปสัตว์จำนวน 45 ตัว ได้แก่ รูปช้าง 24 รูปสิงห์ 11 รูปมกร 8 รูปหมู 1 และ รูปกินรี 1 นอกจากนี้ ยังมีรูปงูพันหม้อน้ำระหว่างช้าง 2 ช้าง รูปมกรและหงส์เดินเรียงกันเป็นแถวเหนือกรอบรูป รูปช้างนั้น บางครั้งเป็นรูปช้างช้างเดียวอยู่ในกรอบแสดงอิริยาบถต่าง ๆ เช่นยืน เดิน นั่งคุกเข่า หรือจะเป็นรูปช้างหลายช้างแสดงอาการชนกัน หรือเดินเรียงกันเป็นต้น
สำหรับรูป”สิงห์” บนขอบสระแก้วนั้น มักจะเป็นรูปสิงห์เดี่ยวอยู่ในกรอบ จะแสดงอาการต่าง ๆ เช่น เผ่นหรือกระโจน ,รูป “มกร” นั้นจะมีลักษณะแตกต่างกัน เช่น มกรมีงวงสั้น งวงยาว ตัวมกรมีเกล็ดคล้ายจระเข้ บางมกรมีลำตัวยาวคล้ายงู บางมกรมีเขา มีหางคล้ายปลา หรือมีหน้าคล้ายสิงห์ก็มี สำหรับรูป “หมู” ที่สระแก้วนั้น มีเพียงรูปเดียว ลักษณะคล้ายหมูป่า ยืนย่อขาหลัง แหงนหน้าขึ้น หางม้วน ส่วนรูป “งู” นั้น เหมือนงูธรรมชาติแผ่พังพานหันหน้าไปทางสระ สันนิษฐานว่า “โบราณสถานสระแก้ว” มีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 10-11 เชื่อว่าเป็นสระน้ำศักดิ์สิทธิ์ ใช้ในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา หรืออาจเป็นพิธีกรรมเพื่อความอุดมสมบูรณ์ เนื่องจากภาพสัตว์และสัญลักษณ์ต่าง ๆ ที่ปรากฏอยู่บนขอบสระ รูปช้าง สิงห์ มกร คชลักษมี หรือปูรณกุมภะ ล้วนแต่เป็นสิ่งมงคลในสังคมเกษตรกรรมทั้งสิ้น
กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนโบราณสถานสระแก้วไว้เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2478 โดย จ.ปราจีนบุรี ได้ทำพิธีพลีกรรมตักน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ 2 แหล่งดังกล่าว ซึ่งหลังเสร็จพิธี ตักน้ำศักดิ์สิทธิ์จาก 2 แหล่งแล้ว จะทำการแห่ไปที่วัดบางกระเบาวรวิหารพระอารามหลวง ต.บางกระเบา อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี เพื่อนำไปเข้าสู่พิธีปลุกเสกและเวียนเทียนสมโภชต่อไป ในวันที่ 8-9 เม.ย.62 นี้
อย่างไรก็ตาม สำหรับวัดบางกระเบาวรวิหารพระอารามหลวง เป็นวัดที่มีพระเกจิดัง หลวงพ่อจาดหรือ พระครูสิทธิสารคุณ ในสมัยสงครามอินโดจีน มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของคนทั่วประเทศ สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้จอดเรือและพระราชทานถวายเรือพระที่นั่งให้หลวงพ่อจาดหรือ พระครูสิทธิสารคุณ ด้วย ปัจจุบันนำตั้งแสดงให้ชมที่ข้างวิหารหลวงพ่อจาดด้วย และในบริเวณวัดมีค้างคาวแม่ไก่ขนาดใหญ่น้ำหนักมากกว่า 1-2 กก.นับพันตัวมาอาศัยอยู่
——————————
ข่าว-ภาพโดย/ทองสุข สิงห์พิมพ์
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: