สระแก้ว – ตัวแทนพยาบาลสระแก้วเข้าร่วมกับพยาบาลทั่วประเทศ เรียกร้องนายกรัฐมนตรีเยียวยาพนักงานของรัฐ หลัง 17 ปีแห่งการลอยแพ อดีตพนักงานของรัฐในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข สูญสิ้นทั้งอายุราชการ และความเหลื่อมล้ำจากการเยียวยา
ตั้งแต่ช่วงเช้าของเมื่อวันที่ 9 ก.พ.61 ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่พยาบาลจากโรงพยาบาลต่าง ๆ ในพื้นที่ จ.สระแก้ว เดินทางไปเป็นตัวแทนเพื่อยื่นข้อเรียกร้องการเยียวยาช่วยเหลือให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ทำเนียบรัฐบาล จำนวนกว่า 200 คน ภายหลังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่มีการดำเนินการใด ๆ แม้เวลาผ่านไปกว่า 17 ปี ทำให้พยาบาลที่เข้าทำงานระหว่างปี 2543-2546 ซึ่งมีจำนวนกว่า 24,321 คน และได้รับบรรจุเป็นพนักงานของรัฐเมื่อปี 2547 เสียสิทธิหลายอย่าง หลายคนเงินเดือนน้อยกว่าพยาบาลรุ่นน้องที่ปรับให้เงินเดือนระดับปริญญาตรีเริ่มต้นที่ 15,000 บาท เป็นต้น
สืบเนื่องจากนโยบายคุมกำเนิดข้าราชการของรัฐบาลตั้งแต่ในปี 2543 กระทบต่อกระทรวงสาธารณสุขขณะนั้น ที่ต้องเลือกบรรจุเฉพาะในวิชาชีพแพทย์ ทันตแพทย์ และปล่อยลอยแพนักเรียนทุนกระทรวงสาธารณสุขที่จบการศึกษาในปี พ.ศ.2543 จนเกิดปรากฏการณ์ “ม็อบคุณหนู” ในปีนั้น ท้าให้คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ.2543 เห็นชอบให้มีการจ้างงานประเภทใหม่ เรียกว่า “พนักงานของรัฐในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข” ความหมายคือ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐอีกประเภทหนึ่ง รับเงินเดือนจากงบประมาณ หมวดเงินเดือน เช่น แพทย์ ค่าตอบแทนใช้บัญชีเงินเดือนพลเรือนโดยอนุโลม การเลื่อนเงินเดือน วันเวลาทำงาน การประเมินผลการ ปฏิบัติงาน วินัย การสิ้นสุดการจ้าง เหมือนข้าราชการทุกประการ แต่ไม่นับอายุราชการ
ข่าวน่าสนใจ:
กระทั่ง เวลาผ่านไป 4 ปี เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2547 คณะรัฐมนตรี ได้มีมติบรรจุและแต่งตั้งพนักงานของรัฐในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ แต่ไม่ได้มีการนำระยะเวลา การปฏิบัติงาน ในช่วงเป็นพนักงานของรัฐฯ(ก่อนการบรรจุ) มาคำนวณในสิทธิประโยชน์กองทุนบำเหน็จบำนาญ แต่อย่างใด ทั้ง ๆ ที่พนักงานของรัฐฯ ทุกท่าน ได้รับการปฏิบัติเหมือนข้าราชการพลเรือนสามัญ ทุกประการ
นั่นคือ ความไม่ยุติธรรมครั้งที่หนึ่ง ที่อดีตพนักงานของรัฐฯ ได้รับความไม่เป็นธรรม ครั้งที่สอง เมื่อสำนักงาน ก.พ.และคณะรัฐมนตรี ได้พิจารณากำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการพิจารณาสิทธิประโยชน์ ให้พนักงานราชการและลูกจ้างชั่วคราวที่ได้รับการบรรจุเข้ารับราชการในกระทรวงสาธารณสุข โดยมีการดำเนินการเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 การกำหนดหลักเกณฑ์ฯ ให้พนักงานราชการและลูกจ้างชั่วคราวที่ได้รับการบรรจุเข้ารับราชการ ตั้งแต่วันที่ 11 ธันวาคม 2555 เป็นต้นไป ตามหนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร 1008.1/155 ลงวันที่ 6 มิถุนายน 2556
ระยะที่ 2 การกำหนดหลักเกณฑ์เพิ่มเติม สำหรับพนักงานราชการและลูกจ้างชั่วคราวที่ได้รับการบรรจุเข้ารับราชการ ก่อนวันที่ 11 ธันวาคม 2555 ตามหนังสือสำนักงาน ก.พ.ที่ นร 1012.2/250 ลงวันที่ 27 ตุลาคม 2558 โดยกระทรวงสาธารณสุขได้ จัดทำข้อมูลเปรียบเทียบตามหนังสือที่ สธ.0208.09/18624 ลงวันที่ 5 กรกฎาคม 2560 พบว่า การได้รับเงินเดือนระหว่าง 1.ข้าราชการปกติ 2.พนักงานของรัฐฯ(พนร) 3.กลุ่มที่ได้รับการเยียวยา ที่มีอายุงาน/อายุราชการใกล้เคียงกันและตำแหน่งประเภทเดียวกัน เปรียบเทียบเงินเดือน ณ วันที่ 1 ตุลาคม 2559 พบว่า มีความเหลื่อมล้ำจริง
วันนี้.. เวลาผ่านมาแล้ว 4 ปี ความไม่ยุติธรรม ความเหลื่อมล้ำดังกล่าว ยังไม่ได้รับการแก้ไขให้ดีขึ้น แต่กลับยิ่งสร้างความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรม ทำลายระบบธรรมมาภิบาลที่ดี และสร้างความแตกแยก ความไม่สามัคคี ในองค์กรเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเงินเดือนของพยาบาลที่แตกต่างกันชัดเจน สำหรับพยาบาลที่เข้าทำงานช่วงปี 2543-2546 กับพยาบาลรุ่นน้องที่เข้าภายหลัง มีเงินเดือนมากอย่างเห็นได้ชัด
ด้วยเหตุและปัจจัยความไม่เป็นธรรมและความเหลือมล้ำต่าง ๆ เหล่านี้ ทางชมรมอดีตพนักงานของรัฐในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขปี 2543-2546 จึงได้ออกมาเรียกร้องความยุติธรรม เมื่อ 5 มิถุนายน 2560 โดยยื่นหนังสือผ่านผู้บริหาร ในกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2560 ยื่นหนังสือสมุดปกขาว ขอความเป็นธรรม ณ ศูนย์ดำรงธรรม ทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ และการยื่นหนังสือสมุดปกขาว รายบุคคล ผ่านตู้ ปณ.1111 เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2561 ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ นายมานพ ผสม ประธานชมรมอดีตพนักงานของรัฐสังกัดกระทรวงสาธารณสุขปี 2543-2546 เปิดเผยว่า ตัวแทนอดีตพนักงานของรัฐฯทั่วประเทศ ทุกสหวิชาชีพ ไม่ว่าจะเป็น แพทย์ เภสัชกร พยาบาลวิชาชีพ นักวิชาการสาธารณสุข นักการแพทย์แผนไทย ฯลฯ เรียกร้องให้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้โปรดคืนความยุติธรรม และความสุข ให้แก่อดีตพนักงานของรัฐฯ ทั้ง 24,321 คน โปรดพิจารณาสั่งการ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการ คืนความเป็นยุติธรรมแก่อดีตพนักงานของรัฐสังกัดกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 2 ข้อ คือ 1.ขอให้มีการแก้กฎหมายเพื่อนับระยะเวลาการเป็นพนักงานของรัฐ เพื่อคำนวณบำเหน็จบำนาญ 2.ทบทวนการเยียวยาเพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำ
น.ส.เกษรา ตะโสรัตน์ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ บอกว่า หลังจากนี้ทางกลุ่มฯ เตรียมยกระดับการเรียกร้องให้เข้มข้นมากขึ้น เหมือนกับพนักงานของรัฐถูกมองข้ามไม่ได้รับการเยียวยา ตลอดช่วง 6 ปี ไม่มีความคืบหน้า ได้รับแต่คำตอบเดิม ๆ คือ อยู่ระหว่างดำเนินการ ทำให้ช่วง 2 ปีนี้เราพยายามติดตามความชอบธรรมตลอดเวลา และมาตรการสูงสุด คือ การร่วมกันยื่นฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุด ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการไต่สวนมูลฟ้อง
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: