สระแก้ว – สธ.สระแก้วจัดประชุมพัฒนาระบบเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ไทย-กัมพูชา
เมื่อวันที่ 25 เม.ย.62 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่โรงแรมอินโดจีน อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว นายอุดมเขต ราษฎร์นุ้ยรองผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว เป็นประธานเปิดประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาระบบการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ และจัดทำ SOP ระหว่างจังหวัดกับจังหวัด, อำเภอกับอำเภอ (สระแก้ว-บันเตียเมียนเจย-พระตะบอง) โดย นางดารารัตน์ โห้วงศ์ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสระแก้ว กล่าวรายงาน
นางดารารัตน์ โห้วงศ์ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสระแก้ว กล่าวว่า ปัจจุบันโรคติดต่อตามแนวชายแดน ยังเป็นปัญหาที่สำคัญและมีแนวโน้มสูงขึ้น เช่น โรคพิษสุนัขบ้า วัณโรค โรคไข้มาลาเรีย และโรคที่ป้องกันด้วยวัคซีน เป็นต้น อาจส่งผลกระทบต่อชีวิต สังคม และเศรษฐกิจโดยรวมของทั้งสองประเทศ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสระแก้ว จังหวัดบันเตียเมียนเจย และจังหวัดพระตะบอง ได้เห็นความสำคัญของปัญหาดังกล่าว จึงได้จัดประชุมฯ เพื่อร่วมกันวิเคราะห์สถานการณ์โรคติดต่อในพื้นที่และโรคระบาดข้ามแดน และพัฒนาระบบการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่อภายในประเทศและระหว่างประเทศ โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ภายใต้โครงการสร้างความตระหนักและเตรียมความพร้อมสำหรับโรคติดต่อและภัยสุขภาพตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ปีงบประมาณ 2562 ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจากจังหวัดบันเตียเมียนเจย จังหวัดพระตะบอง ราชอาณาจักรกัมพูชา และจังหวัดสระแก้ว ราชอาณาจักรไทย รวมทั้งสิ้น 100 คน
รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสระแก้ว กล่าวอีกว่า สถานการณ์โรคติดต่อตามแนวชายแดนที่พบใน 4 อำเภอชายแดน ได้แก่ โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน ไข้ไม่ทราบสาเหตุ ไข้เลือดออก ตาแดง มาลาเรีย และมือเท้าปาก ซึ่งต่อไปมีแผนว่าจะร่วมมือกันเฝ้าระวังโรคติดต่อที่เป็นปัญหาสำคัญของพื้นที่ได้แก่ โรคพิษสุนัขบ้า และวัณโรค ที่พบในกลุ่มแรงงานที่มาขึ้นทะเบียนเป็นจำนวนมาก
นายอุดมเขต ราษฎร์นุ้ย รองผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว กล่าวว่า การประชุมในวันนี้ นับเป็นความก้าวหน้าของความร่วมมือด้านสาธารณสุขที่เป็นรูปธรรม ด้วยความร่วมมือของหน่วยงานสาธารณสุขของทั้งสองประเทศ 3 จังหวัดที่มีพรมแดนติดต่อกัน ทำให้บุคลากรสาธารณสุขของทั้งสองประเทศได้มีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน เกิดเครือข่ายเฝ้าระวังป้องกันควมคุมโรคข้ามเขตแดน ทำให้มีความพร้อมรับสถานการณ์การระบาดของโรคติดต่อที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่ของทั้งสองประเทศได้
————————–
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: