สระแก้ว – สาธารณสุขนิเทศก์ เขตสุขภาพที่ 6 เผยปี 2561 คนไทยตายด้วย “โรคหัวใจและหลอดเลือด” 2 หมื่น กว่าคน เฉลี่ยชั่วโมงละ 2 คน มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จังหวัดสระแก้ว เป็นเจ้าภาพจัดประชุมวิชาการ “เครือข่ายหัวใจบูรพา” หวังแลกเปลี่ยนเรียนรู้ พัฒนาความรู้โรคหัวใจและหลอดเลือด แก่บุคลากรทางการแพทย์ 8 จังหวัดภาคตะวันออก
นพ.อภิชาติ รอดสม สาธารณสุขนิเทศก์ เขตสุขภาพที่ 6 เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการ “เครือข่ายหัวใจบูรพา” โดยมี พญ.อรรัตน์ จันทร์เพ็ญ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสระแก้ว นายแพทย์ภูวดล กิตติวัฒนาสาร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสระแก้ว พร้อมด้วยแพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ จาก 8 จังหวัดภาคตะวันออก จำนวน 500 คน ร่วมต้อนรับ ที่ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนจังหวัดสระแก้ว ต.ท่าเกษม อ.เมือง จ.สระแก้ว ทั้งนี้ “เครือข่ายหัวใจบูรพา” ได้จัดประชุมวิชาการเป็นประจำทุกปี เพื่อให้แพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทบทวนและพัฒนาความรู้เกี่ยวกับโรคหัวใจและหลอดเลือด ความรู้ใหม่ๆ ให้มีความเข้าใจตรงกัน นำไปสู่ความร่วมมือกันมากขึ้น ซึ่งในปี 2562 จังหวัดสระแก้วเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมดังกล่าวซึ่งเป็น ครั้งที่ 7
นพ.อภิชาติ รอดสม สาธารณสุขนิเทศก์ เขตสุขภาพที่ 6 เปิดเผยว่า ปัญหา ”โรคหัวใจ” เป็นภัยเงียบที่คุกคามสุขภาพความเป็นอยู่ของคนในยุคปัจจุบัน โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่าในปี 2558 กลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของโลก โดยคิดเป็นร้อยละ 31 ของอัตราตายทั่วโลก ซึ่งสถิติล่าสุดของกระทรวงสาธารณสุข เมื่อเดือนกันยายน 2561 พบว่ามีผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด 432,943 คน เสียชีวิต 20,855 คนหรือ ชั่วโมงละ 2 คน และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น จากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ จากการใช้ชีวิตประจำวัน ทั้งอาหารการกินและขาดการออกกำลังกายทำให้เป็นสาเหตุของการสูญเสียของประชากรไทยวัยทำงาน ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชากร เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ จากการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรส่งผลกระทบทั้งในระดับบุคคล ครอบครัว สังคม และประเทศชาติในขณะที่การรักษาพยาบาล โรคหัวใจก็มีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง และ มีข้อจำกัดบางอย่างที่ต้องทำในโรงพยาบาลขนาดใหญ่หรือโรงพยาบาลศูนย์เท่านั้น การที่จะให้ประชาชาชนได้รับการบริการที่ดีและทั่วถึงนั้น จำเป็นต้องมีเครือข่ายบริการที่มีประสิทธิภาพ มีการประสานงานที่ดี
ข่าวน่าสนใจ:
นพ.วรวิทย์ ตันติศิริวัฒน์ ประธานพัฒนาระบบบริการโรคหัวใจ เขตสุขภาพที่ 6 กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 6 และ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 6 ระยอง ได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาเครือข่ายการดูแลโรคหัวใจของบุคลากรทางการแพทย์ และสาธารณสุขใน 8 จังหวัดภาคตะวันออก ภายใต้ชื่อ “เครือข่ายหัวใจบูรพา” เพื่อพัฒนาระบบบริการโรคหัวใจเชื่อมโยงงานสู่สถานบริการในเครือข่าย สามารถให้บริการผู้ป่วยโรคหัวใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ พัฒนาศักยภาพการดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจอย่างต่อเนื่อง ลงไปจนถึงระดับชุมชนให้ครอบคลุมมากขึ้น
—————————–
ภาพโดย/สุชีวิน ปิยะมิตรบัณฑิต
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: