สระแก้ว – ศูนย์ฯ ฝนหลวงภาคตะวันออก จ.สระแก้ว นำเครื่องคาราแวน 3 ลำ ขึ้นบินเร่งทำฝนหลวง เพื่อเติมน้ำในอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำขั้นวิกฤตใน อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว และฉะเชิงเทรา ระบุ น้ำในอ่างเก็บน้ำห้วยยางมีน้ำแค่ 13% จึงต้องเร่งเติมน้ำให้ได้มากที่สุดก่อนจะหมดช่วงฤดูฝนปลายเดือน ต.ค.นี้
เมื่อวันที่ 20 ก.ย.62 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายวีระพล สุชาดา ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออก กรมฝนหลวงและการบินเกษตร เดินทางลงพื้นที่ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวง จ.สระแก้ว ที่สนามบินฝูงบิน 206 อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว เพื่อขึ้นบินตรวจสอบปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำสำคัญในพื้นที่ จ.สระแก้วและฉะเชิงเทรา ที่มีปริมาณน้ำน้อยอยู่ในขั้นวิกฤตในปัจจุบัน โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำห้วยยาง อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว และอ่างเก็บน้ำคลองสียัด อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา พร้อมกับสั่งการให้ทีมเจ้าหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออก นำเครื่องบินคาราแวน จำนวน 3 ลำ ขึ้นบินเพื่อโปรยสารฝนหลวงในพื้นที่ จ.สระแก้วและฉะเชิงเทรา สำหรับเร่งการทำปฎิกิริยาในชั้นบรรยากาศ เพื่อทำให้เกิดฝนตกต่อเนื่องบริเวณพื้นที่เหนือเขื่อนหลัก ๆ ที่มีปริมาณน้ำคงเหลือน้อยในปัจจุบัน ซึ่งระหว่างการขึ้นบินปฏิบัติการดังกล่าว ส่งผลทำให้เกิดฝนตกในหลายพื้นที่ด้วยเช่นกัน
ข่าวน่าสนใจ:
นายวีระพล สุชาดา ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออก กรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า ขณะนี้ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกได้ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงที่ จ.สระแก้ว ซึ่งที่ผ่านมาสามารถช่วยเหลือพื้นที่เกษตรที่ประสบภัยแล้งและเติมน้ำให้กับเขื่อนและอ่างเก็บน้ำที่สำคัญ โดยเฉพาะใน อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว ที่ประสบปัญหาภัยแล้ง อ่างเก็บน้ำห้วยยางมีปริมาณน้ำต่ำเพียง 13 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเราจะต้องเร่งปฏิบัติการเติมน้ำต่อไป ส่วนอ่างเก็บน้ำคลองสียัด อ.ท่าตะเกียบ ปริมาณน้ำก็ค่อนข้างต่ำเช่นกัน เพียง 15 เปอร์เซ็นต์ รวมทั้งอ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่สำคัญใน จ.ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ที่ต้องใช้น้ำเพื่ออุปโภคบริโภค การเกษตรและใช้ในอุตสาหกรรมเขตเศรษฐกิจพิเศษอีอีซีด้วย
” ช่วงนี้ อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้มีนโยบายให้หน่วยปฏิบัติการฯ ช่วยเร่งเติมน้ำให้อ่างเก็บน้ำที่สำคัญ คาดว่า จะสามารถดำเนินการไปได้ถึงปลายเดือน ต.ค.นี้ ก่อนที่อากาศหนาวจะแผ่ลงมาทำให้ความชื้นสัมพัทธ์เริ่มต่ำจนไม่สามารถปฏิบัติการฝนหลวงได้ ซึ่งเรามีเวลาแค่เดือนเศษแค่ปลายเดือน ต.ค.ถึงต้น พ.ย.โดยต้องติดตามสภาพอากาศต่อเนื่อง คาดว่า ปริมาณน้ำที่จะได้ ขึ้นอยู่กับสภาวะอากาศที่ช่วยปฏิบัติการเสริมโดยมีการติดตามแบบวันต่อวันและวิเคราะห์สภาพอากาศ พร้อมขึ้นบินทันทีหากอากาศเหมาะสม ซึ่งแต่ละวันหากครบขั้นตอนจะสามารถดำเนินการได้ถึง 3 เที่ยว ตั้งแต่ขั้นตอนแรกไปจนถึงขั้นตอนการโจมตีเมฆ เพื่อให้เกิดฝนตก” ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออก กรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าว
——————————–
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: