สระแก้ว – ด่านตรวจสัตว์สระแก้วยึดมาตรการเข้ม เป็นจัดหวัดเดียวในประเทศไทยที่อนุญาตส่งสุกรมีชีวิตออกนอกประเทศ ผ่าน จ.สระแก้ว ยืนยันประเทศไทยยังไม่มีการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรประเทศเดียวในภูมิภาค และตรวจเข้มห้ามนำผลิตภัณฑ์จากหมูทุกชนิดเข้าประเทศไทยเด็ดขาด
เมื่อวันที่ 28 ก.ย.62 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังเกิดการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรอย่างหนักในประเทศจีน ล่าสุด พบระบาดที่ประเทศกัมพูชาและพม่า รวมทั้งประเทศลาว ซึ่งอยู่รอบ ๆ ประเทศไทย ส่งผลทำให้ทางการไทยต้องดำเนินการมาตรการเข้มงวดการส่งออกและนำเข้าสุกรอย่างหนัก เพื่อไม่ให้เกิดการระบาดในประเทศโดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา ด้าน จ.สระแก้ว ซึ่งที่ด่านผ่านแดนถาวรบ้านคลองลึก อ.อรัญประเทศ และด่านผ่านแดนถาวรบ้านเขาดิน อ.คลองหาด จ.สระแก้ว มีการประชาสัมพันธ์และตรวจสอบห้ามนำผลิตภัณฑ์จากสุกรเข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดยเด็ดขาด ซึ่งจากการลงพื้นที่บริเวณด่านผ่านแดนถาวรบ้านเขาดิน เจ้าหน้าที่มีการฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อบริเวณด่าน และนำรถที่ใช้บรรทุกสุกรมีชีวิตข้ามแดนไปยังกัมพูชามาฉีดพ่นฆ่าเชื้อตามมาตรการของกรมปศุสัตว์ด้วย
นายยุทธนา โสภี นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ นักวิชาการดูแลด่านตรวจชายแดนไทย-กัมพูชา สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดสระแก้ว เปิดเผยว่า โรคดังกล่าวหลังจากมีการระบาดในประเทศจีนและต่อเนื่องมาถึงประเทศในภูมิภาคเอเชีย เวียดนาม กัมพูชา ลาว ล่าสุดประเทศพม่า ที่เป็นโรคระบาดที่เกิดกับสัตว์ตระกูลสุกร ที่สำคัญต้องเน้นย้ำว่า ไม่ติดสู่คน ซึ่งเกิดแล้วทำให้สุกรเสียชีวิตหรือมีอัตราการตายเกือบ 100% และไม่มีวัคซีนป้องกันไม่มียารักษาโรค เป็นแล้วตาย ดังนั้น ประเทศไทยเป็นไข่แดง ซึ่งรอบ ๆ ประเทศไทยเกิดโรคกันหมดแล้ว ซึ่งที่กัมพูชาเกิดขึ้นล่าสุดที่ จ.กันดาน ห่างสระแก้ว 400-500 กม. จึงต้องยกระดับการทำงานควบคุมไม่ให้โรคนี้เข้ามาในพื้นที่ จ.สระแก้วหรือประเทศไทย
นายยุทธนา กล่าวอีกว่า จังหวัดสระแก้วเป็นจังหวัดเดียวที่มีการส่งออกสุกรมีชีวิตไปยังกัมพูชาทุกวัน เราจึงมีมาตรการในการควบคุมดูแลให้เกษตรกรมั่นใจว่า เราสามารถป้องกันโรคได้ โดยดำเนินการภายใต้หลักเกณฑ์การส่งออกสุกรมีชีวิตไปยังประเทศที่มีการแพร่ระบาด แบ่งเป็น ฟาร์มต้นทางต้องได้รับการรับรอง มีรถขนส่งสุกรภายในประเทศจากฟาร์มมาส่งชายแดน ห้ามเคลื่อนย้ายข้ามประเทศเด็ดขาด หลังจากนั้นก็จะมีการขนถ่ายสุกรบริเวณชายแดน ก่อนจะนำขึ้นรถขนถ่ายสุกรข้ามแดนวิ่งตรงไปส่งยังกัมพูชา ซึ่งจะมีการสุ่มตรวจข้อมูลจากรถทุกคันเพื่อหาสารพันธุกรรมของเชื้อโรคด้วย พร้อมทั้งฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อด้วยระบบโฟมและทิ้งรถไว้ 30 นาที ก่อนจะนำไปที่ศูนย์ทำความสะอาดและทำลายเชื้อโรคยานพาหนะขนส่งสินค้าปศุสัตว์ ที่ต้องผ่านอุโมงค์พ่นยาฆ่าเชื้อระยะเวลาอย่างน้อยอีก 30 นาที หลังจากนั้นจะฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อแบบโฟมอีกครั้ง ก่อนนำไปจอดทิ้งไว้ที่จุดขนถ่ายสุกร พร้อมทั้งฉีดพ่นยาฆ่าเชื้ออีกครั้ง แล้วทิ้งรถไว้ข้ามคืนเพื่อรอขนถ่ายสุกรในวันถัดไป โดยห้ามนำรถเข้าไปวิ่งเข้าพื้นที่ชั้นในประเทศเด็ดขาด
“ขอยันยันว่า สถานการณ์โรคขณะนี้โดยอธิบดีกรมปศุสัตว์และ รมว.เกษตรฯ ยังยืนยันว่า ประเทศไทยเรายังปลอดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ซึ่งอาจจะมีข่าวลือต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น จึงอยากจะนำเรียนพี่น้องว่า ให้ฟังจาก รมว.เกษตรฯ ท่านเดียวว่า พบโรคหรือไม่พบโรค ที่ผ่านมาก็จะเป็นเพียงแค่ข่าวลือซึ่งมีผลต่อผู้เลี้ยงสุกร ทำให้เกิดการแตกตื่นตกใจ กลัวและอาจจะมีการเทขายสุกรออกมาบ้าง จึงยืนยันอีกครั้งว่า ประเทศไทยเรายังปลอดโรค ถ้าเรายังทำงานร่วมมือกันอย่างจริงจัง และควบคุมไม่ให้มีการแพร่ระบาด เช่น ไข้หวัดนกได้ ประเทศไทยจะมีโอกาสด้านการค้าที่สูงมาก เนื่องจากว่า ประเทศจีนเป็นประเทศที่มีประชากรจำนวนมาก เมื่อเกิดโรคระบาดเค้าเกิดภาวะการขาดแคลนสุกรจำนวนมาก เพราะมีการสั่งทำลายสุกรมากกว่า 200 ล้านตัว ดังนั้น ประเทศเพื่อนบ้านที่เกิดโรคระบาดก็มีแนวโน้มมีความต้องการสุกรจำนวนมาก ซึ่งความมั่นคงด้านอาหารจะขาดแคลน ถ้าเราสามารถควบคุมโรคนี้ได้ จะเป็นโอกาสของพี่น้องคนไทยที่เลี้ยงสุกรสร้างมูลค่าเพิ่มได้มหาศาล ” นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ ระบุ
——————————
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: