สระแก้ว – โรงงานเหล็กในพื้นที่ ต.ศาลาลำดวน อ.เมือง จ.สระแก้ว จ้างบริษัทที่ปรึกษาเอกชน จัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือ EIA รอบที่ 2 เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตจากเดิมที่ได้รับอนุญาต 12 เท่า โดยชาวบ้าน-หน่วยงานหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า บริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่สีเขียว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปล่อยให้ดำเนินการได้อย่างไร มีการทำผิดกฎหมายก่อนหน้านี้ และศึกษาไม่ครอบคลุมรัศมี 5 กม.ด้วย
เมื่อวันที่ 28 เม.ย.61 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามที่บริษัทเอกชนรายหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้ดำเนินกิจการโรงงานหลอมเหล็ก ในพื้นที่ ม.7 ต.ศาลาลำดวน อ.เมือง จ.สระแก้ว ว่าจ้างให้บริษัทคอลซัลแทนท์ ออฟ เทคโนโลยี จำกัด เป็นบริษัทที่ปรึกษา ซึ่งได้รับอนุญาตและขึ้นทะเบียนต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ให้จัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) เพื่อขยายขนาดโรงงาน ภายหลังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าตรวจสอบก่อนหน้านี้และพบว่าไม่ตรงกับที่ร้องขอไว้กับหน่วยงานราชการ พร้อมทั้งจัดให้มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อการทบทวนร่างรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการโรงงานหลอมเหล็ก ของบริษัทเอกชนฯ ตามหนังสือเลขรับที่ 205 ลงวันที่ 18 เม.ย.61 ของสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสระแก้วนั้น ล่าสุด มีจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่อการกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 2 เมื่อวานนี้ (27 เม.ย.) ที่ศาลาการเปรียญวัดท่าช้าง ต.ศาลาลำดวน อ.เมือง จ.สระแก้ว ซึ่งมีการร้องเรียนและทักท้วงว่า บริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่สีเขียว ไม่สามารถก่อสร้างโรงงานขนาดใหญ่ได้
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว มีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนฯ มาแล้ว 1 ครั้ง เมื่อวันที่ 17-18 ม.ค.61 ซึ่งมีตัวแทนหน่วยงานและประชาชนเข้าร่วมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ต่อการทบทวนร่างรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในทุกภาคส่วน ได้มีส่วนร่วมในการเสนอประเด็น การจัดการผลกระทบ ข้อกังวล และให้ความเห็นต่อแนวทางการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของโครงการให้ครบถ้วน รอบด้านมากที่สุด เพื่อสรุปประเด็นจากการประชุมรับฟังความคิดเห็น เพื่อกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของโครงการด้านต่าง ๆ อาทิ ด้านคุณภาพอากาศ ,ด้านเสียง ,ด้านน้ำใช้และการจัดการน้ำเสีย ,ด้านการจราจร,ด้านเศรษฐกิจ สังคม และอื่น ๆ
ข่าวน่าสนใจ:
- องคมนตรีเชิญสิ่งของพระราชทานเนื่องในโอกาสปีใหม่ 2568 มอบให้ทหารกองกำลังป้องกันชายแดน จ.สระแก้ว
- เครื่องกั้นรถไฟคลองแขวงกลั่นพังบ่อย ล่าสุดลงปิดขวางถนนนานข้ามคืน
- “เฉลิมชัย” รมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯ ลงพื้นที่ติดตามการทำหมันลิงเขาช่องกระจก ล๊อตแรก 300 ตัว
- ตม.สระแก้ว บูรณาการร่วมกับ หน่วยงานข้างเคียง จับกุมไทย-เขมร 2 ราย ไม่เข้าออกตามช่องทาง
สำหรับโรงงานดังกล่าว เดิมมีกำลังการผลิต 40 ตันต่อวัน ซึ่งได้รับอนุญาตเมื่อวันที่ 28 ธ.ค.58 ปัจจุบันมีเตาหลอม Electric Arc Furnace จำนวน 2 เตา และกำลังติดตั้งเพิ่ม เตาหลอม Electric Induction Furnace จำนวน 4 เตา (ทำงาน 2 เตา สำรอง 2 เตา) และติดตั้งเพิ่มส่วนรีดเหล็ก 1 สายการผลิต เพื่อขยายกำลังการผลิตจาก 80 ตัน/วัน เป็น 480 ตัน/วัน ทั้งนี้ โรงงานนี้ถือเป็นโครงการที่กฎหมายกำหนดให้ต้องทำอีไอเอ ลำดับที่ 14 จากทั้งหมด 35 ประเภท จึงจำเป็นต้องจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมหรือ EIA ตามที่กฎหมายกำหนด
ทางด้าน นายประพันธ์ กาใจทราย ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสระแก้ว เปิดเผยว่า การประชุมรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 2 เมื่อวานนี้ ตนเองได้เดินทางลงพื้นที่ศาลาการเปรียญวัดท่าช้าง ต.ศาลาลำดวน อ.เมือง จ.สระแก้ว ด้วยเช่นกัน และพบว่า มีผู้เข้าร่วมประชุมรับฟังความคิดเห็นหลายคน ทักท้วงการดำเนินโครงการนี้ว่า บริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่สีเขียว ตามประกาศผังเมืองรวมปี 2558 ไม่สามารถก่อสร้างโรงงานขนาดใหญ่ได้ ซึ่งก็ไม่ทราบว่า จะดำเนินการได้อย่างไรต่อไป ต้องรอผลสรุปจากทางสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวสอบถามชาวบ้านในพื้นที่โครงการดังกล่าว นายพงษ์พัฒน์ จันทร์ดวง อายุ 56 ปี บ้านเลขที่ 163 ม.4 ต.บ้านแก้ง อ.เมือง กล่าวว่า การทำอีไอเอ ทำแค่พื้นที่ ม.6 หมู่บ้านเดียว แต่ผลกระทบมี 25 หมู่บ้าน รัศมี 5 กิโลเมตร อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปตรวจสอบเรื่องนี้ เนื่องจากชาวบ้านได้ทักท้วงตั้งแต่การจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 ว่า พื้นที่ ต.ศาลาลำดวน เป็นพื้นที่สีเขียวไม่สามารถสร้างโรงงานขนาดใหญ่ได้ และโรงงานเคยทำผิดกฎหมายดำเนินการไปถึงไหนแล้ว ทุกวันนี้ในพื้นที่มีโรงงานและโรงไฟฟ้าชีวมวลรวมกันมากกว่า 16 โรงงาน ทั้งที่เป็นพื้นที่สีเขียว สภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในปัจจุบัน โดยที่ไม่มีหน่วยงานใดสามารถช่วยชาวบ้านได้ เพราะหากมีการร้องเรียนชาวบ้านก็ไม่ปลอดภัย ทั้งนี้ หากมีนโยบายที่จะพัฒนาพื้นที่เป็นเขตอุตสาหกรรม ควรประกาศให้เป็นนิคมอุตสาหกรรมเพื่อชาวบ้านจะได้ไม่ถูกเอาเปรียบเรื่องที่ดินและมีหน่วยงานมาดูแลด้านผลกระทบชัดเจน
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: