สระแก้ว – เกิดเหตุสลดหนุ่มผูกคอลาโลก ห้อยแขวนใต้ต้นไม้ริมถนน 4 เลน หน้าโชว์รูมขายรถไถถนนสุวรรณศร สายสระแก้ว-อรัญประเทศ คาดหนีปัญหาส่วนตัว ด้านสาธารณสุขจังหวัดสระแก้ว พบตัวเลขแนวโน้มการฆ่าตัวตายสูง ในกลุ่มวัยทำงานและผู้สูงอายุ จากปัญหาความสัมพันธ์ ความรัก โดยพื้นที่ จ.สระแก้ว พบมากสุดในพื้นที่ 3 อำเภอ คือโคกสูง วัฒนานคร เขาฉกรรจ์
เมื่อวันที่ 24 ต.ค.62 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ร.ต.อ.พยัคฆ์เดช ดีประเสริฐสิทธิ์ ร้อยเวร สภ.วัฒนานคร อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว รับแจ้งว่า เกิดเหตุชายผูกคอเสียชีวิตริมถนนสาย 33 สุวรรณศร เส้นทางสระแก้ว-อรัญประเทศ จึงรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบพร้อมกับเดินทางลงพื้นที่ตรวจสอบที่เกิดเหตุ ร่วมกับเจ้าหน้าที่อาสามูลนิธิร่วมกตัญญู จุดวัฒนานครและศูนย์สั่งการนเรนทรสระแก้ว 1669 โดยเหตุผูกคอเสียชีวิตดังกล่าวเกิดขึ้นที่ต้นไม้ริมทางบริเวณบ้านห้วยโจด ต.ห้วยโจด อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว ในจุดเกิดเหตุพบผู้เสียชีวิตเป็นชาย 1 ราย ทราบชื่อต่อมา นายสมศักดิ์ ประดับคำ อายุ 50 ปี อยู่บ้านเลขที่ 519/1 หมู่ 5 ต.ลำนารายณ์ อ.ชัยบาดาล จ.ลพบุรี
ทั้งนี้ จากการสอบถามเบื้องต้น ทราบว่า ชายคนดังกล่าวผูกคอตายกับต้นไม้ด้วยเชือก สวมเสื้อสีแดง กางเกงขายาวสีเทา ขาด้านขวาติดกับง่ามไม้ ขาซ้ายเหยียดตรวจสวมรองเท้าแตะ น่าจะเกิดความเครียดจากปัญหาชีวิตจึงก่อเหตุขึ้นขึ้น โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่ระหว่างติดต่อญาติเพื่อให้ข้อมูลถึงสาเหตุที่แท้จริง โดยจุดที่เกิดเหตุเป็นต้นไม้ริมถนน 4 เลน ด้านหน้าโชว์รูมขายรถไถ ยูโรแทรค เลขที่ 601 ม.1 ต.ห้วยโจด อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว ซึ่งหลังตำรวจเข้าเก็บหลักฐานเสร็จสิ้น ได้มอบศพให้เจ้าหน้าที่อาสามูลนิธิร่วมกตัญญูนำส่ง รพ.วัฒนานคร เพื่อชันสูตรการตายอย่างละเอียดและประสานญาติมารับศพต่อไป
ข่าวน่าสนใจ:
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อกลางเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสระแก้ว ได้ออกมาเปิดเผยข้อมูลแนวโน้มการฆ่าตัวตายของ จ.สระแก้วว่า สูงอันดับ 8 ของประเทศ ส่วนใหญ่เป็นวัยทำงานและผู้สูงอายุ ซึ่งในช่วงปี 62 ที่ผ่านมา มีการก่อเหตุฆ่าตัวตายสำเร็จแล้ว 35 คน ปัจจัยสำคัญเกิดจากปัญหาด้านความสัมพันธ์ ปัญหาความรัก พบสูงสุด 3 อำเภอ โคกสูง วัฒนานคร เขาฉกรรจ์ เน้นยึดหลัก 3 ส. สอดส่อง ใส่ใจรับฟัง ส่งต่อเชื่อมโยง ป้องกันฆ่าตัวตาย
โดย นพ.สุภโชค เวชภัณฑ์เภสัช นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสระแก้ว เปิดเผยว่า ปัจจุบันปัญหาฆ่าตัวตายในประเทศไทยจัดเป็นความรุนแรงทางด้านสุขภาพจิตและจิตเวช ซึ่งเกิดจากหลายสาเหตุทั้งปัญหาสังคม ปัญหาเศรษฐกิจ ข้อมูลสถานการณ์ปัญหาการฆ่าตัวตายในประเทศไทย มีอัตราส่วน 6.34 ต่อประชากรหนึ่งแสนคน ปี 2561 มีคนไทยฆ่าตัวตายสำเร็จ 4,137 คน ส่วนใหญ่อยู่ในวัยแรงงาน รองลงมาเป็นวัยสูงอายุ และวัยเด็ก ตามลำดับ นอกจากนี้ ยังพบจำนวนผู้ที่ทำร้ายตนเองจนเสียชีวิต เฉลี่ย 345 รายต่อเดือน และมีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จเฉลี่ยวันละประมาณ 11-12 ราย
สำหรับสถานการณ์การฆ่าตัวตายของจังหวัดสระแก้ว พบว่ามีแนวโน้มการฆ่าตัวตายสำเร็จเพิ่มมากขึ้น โดยในปี 2561 มีประชากรฆ่าตัวตายสำเร็จ 57 คน คิดเป็นร้อยละ 10.18 สูงเป็นลำดับที่ 8 ของประเทศ ปี 2562 (1 ตุลาคม 61 ถึง 30 กันยายน 62) พบว่าฆ่าตัวตายสำเร็จ 35 คน คิดเป็นร้อยละ 6.3 สูงสุดที่อำเภอโคกสูง 5 คน อำเภอวัฒนานคร และอำเภอเขาฉกรรจ์ ตามลำดับ โดยพบว่าส่วนใหญ่เป็นเพศชาย วัยทำงานและผู้สูงอายุ อายุระหว่าง 29-71 ปี ประกอบอาชีพ รับจ้าง ว่างงาน และข้าราชการ ตามลำดับ ปัจจัยของการฆ่าตัวตายสำเร็จ ส่วนใหญ่จะมีปัญหาด้านความสัมพันธ์ อาทิ ความน้อยใจ ถูกดุด่าตำหนิ การทะเลาะกับคนใกล้ชิด ร้อยละ 44.4 ตามมาด้วยปัญหาความรัก หึงหวง ร้อยละ 27.7 และต้องการคนดูแลเอาใจใส่ ร้อยละ 8.5 ส่วนปัญหาด้านการใช้สุราและยาเสพติด พบว่า ผู้ฆ่าตัวตายจะมีปัญหาการดื่มสุรา ร้อยละ 22.8 มีอาการมึนเมาระหว่างทำร้ายตนเอง ร้อยละ 8.6 และปัญหาด้านการเจ็บป่วยทางจิต พบภาวะโรคจิต ร้อยละ 5.7 และพบว่ามีประวัติการทำร้ายตนเองซ้ำ ร้อยละ 2.9
นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสระแก้ว กล่าวว่า เพื่อเฝ้าระวังผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตและจิตเวช จังหวัดสระแก้ว สถานบริการสาธารณสุขทุกแห่งให้บริการคัดกรองประชาชนอายุ 15 ปีขึ้นไป รวมทั้งคัดกรองในกลุ่มผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อ , ผู้ป่วยจิตเวช, ผู้เสพยาเสพติด, ผู้ป่วยหลังคลอด และผู้สูงอายุทุกคน ในชุมชนก็มี อสม. ร่วมค้นหาและคัดกรองผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตตามแบบประเมิน 2Q โดยในปี 2563 เน้นการคัดกรองเยาวชนในสถานศึกษาเพิ่มมากขึ้น
สำหรับวิธีป้องกันไม่ให้เกิดการฆ่าตัวตาย บุคคลรอบข้าง ครอบครัว หรือคนใกล้ชิด ต้องปฏิบัติตามหลัก 3 ส. ป้องกันการฆ่าตัวตาย ได้แก่ 1) สอดส่อง มองหา ผู้ที่มีความคิดทำร้ายตัวเอง หรือผู้ที่มีการส่งสัญญาณเตือนในการฆ่าตัวตาย หากพบว่ามีอาการเศร้า เบื่อ เซ็ง แยกตัว คิดวนเวียน นอนไม่หลับ มองโลกในแง่ลบ หรือโพสต์ข้อความเชิงสั่งเสีย ไม่อยากมีชีวิตอยู่ หมดหวังในชีวิต ซึ่งเป็นอาการบ่งบอกของโรคซึมเศร้าและเป็นสัญญาณเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย ให้รีบเข้าไปพูดคุยช่วยเหลือพร้อมรับฟัง 2) ใส่ใจรับฟัง ด้วยความเข้าใจ ชวนพูดคุยให้ระบายความรู้สึก ไม่ตำหนิหรือวิจารณ์ โดยการรับฟังอย่างใส่ใจ 3) ส่งต่อเชื่อมโยง เช่น การแนะนำให้โทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 รวมถึงแอพพลิเคชั่นสบายใจ รวมทั้งแนะนำให้ไปพบบุคลากรสาธารณสุขหรือช่วยเหลือพาส่งโรงพยาบาลใกล้บ้าน
——————————
ภาพโดย/อาสากูภัยมูลนิธิร่วมกตัญญู จ.สระแก้ว
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: