สระแก้ว – เทศบาลเมืองวังน้ำเย็น ได้รับการคัดเลือกให้ได้รับรางวัล อปท.ที่มีการจัดการที่ดี ประเภทดีเลิศ ประจำปี 2562 ซึ่งมีการส่งเสริมนวัตกรรมเด่น ด้านผู้สูงอายุ สุขภาพดี มีภูมิปัญญา จิตอาสา และพัฒนาสังคม จาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล
เมื่อวันที่ 31 ต.ค.62 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายวันชัย นารีรักษ์ นายกเทศมนตรีเมืองวังน้ำเย็น อ.วังน้ำเย็น จ.สระแก้ว เดินทางเข้ารับรางวัลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มีการบริหารจัดการที่ดี ประเภทดีเลิศ ประจำปี 2562 โดยรับมอบกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพมหานคร โดยครั้งนี้ เทศบาลเมืองวังน้ำเย็นได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ประเภทดีเลิศ ซึ่งส่งนวัตกรรมเด่น คือ (“ผู้สูงอายุ สุขภาพดี มีภูมิปัญญา จิตอาสา พัฒนาสังคม”(Promoting Physical and Mental Well-being and Elderly Volunteering for Community Development)
ทั้งนี้ สำหรับเทศบาลเมืองวังน้ำเย็น ได้ปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาลแบบครบถ้วน ครอบคลุมทุกด้าน ทั้งหลักนิติธรรม หลักคุณธรรม หลักความโปร่งใส หลักการมีส่วนร่วม หลักความรับผิดชอบ และหลักความคุ้มค่า ทั้งนี้ เพื่อให้สังคมอยู่ร่วมกันได้ ขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกัน ได้อย่างสมดุลและยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สังคมเมืองไทยในปัจจุบัน กำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแบบเต็มรูปแบบ ฉะนั้นการรองรับ การเตรียมความพร้อมเป็นเรื่องที่สำคัญมาก มีเป้าหมายที่ชัดเจน สืบเนื่องจากเทศบาลเมืองวังน้ำเย็นได้จัดทำโครงการบริการเชิงรุก “กิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพกาย-ใจ สร้างผู้สูงวัยสุขภาพดี ประจำปีงบประมาณ 2557” ได้เปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุทั่วไปที่สนใจเข้ามาเรียนรู้การดูแลตนเอง จะสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาผู้สูงอายุให้มีศักยภาพในการช่วยเหลือดูแลตนเองได้ และช่วยเหลือดูแลผู้อื่นได้เป็นอย่างดี และมีกิจกรรมต่อเนื่อง เป็นการส่งเสริมการดูแลผู้สูงอายุอย่างยั่งยืน โดยผู้สูงอายุจะต้องมีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องเกี่ยวกับผู้สูงอายุ และการดำเนินชีวิตตามช่วงวัยอย่างเหมาะสม และสามารถถ่ายทอดความรู้เหล่านี้ให้กับเพื่อนผู้สูงวัยด้วยกัน และวัยอื่นๆได้รวมทั้งความรู้ ทักษะ ความสามารถเป็นผู้นำทำกิจกรรมผู้สูงอายุต่างๆได้ตามความถนัดและความสนใจ เพื่อพัฒนาการต่อยอดโรงเรียนผู้สูงอายุ
ข่าวน่าสนใจ:
นอกจากนั้น เทศบาลเมืองวังน้ำเย็น ได้เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุ และตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นความเสื่อมของสภาพร่างกายตามวัยที่เพิ่มขึ้นก่อให้เกิดสภาวการณ์พึ่งพาสูงขึ้น และมีความต้องการการดูแลระยะยาวจากสังคม จึงได้พัฒนารูปแบบการดำเนินกิจกรรมสู่การร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับผลประโยชน์ โดยให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกันเพื่อส่งเสริมการรวมกลุ่มของผู้สูงอายุ รวมถึงสภาพแวดล้อมและที่อยู่อาศัยที่ปลอดภัย การใช้ชีวิตในวัยผู้สูงอายุและมองเห็นคุณค่า การถ่ายทอดภูมิปัญญา รวมทั้งเพื่อเป็นศูนย์รวมส่งเสริมสนับสนุนการปฏิบัติงานของอาสาสมัครหรือจิตอาสาในกลุ่มวัยผู้สูงอายุเพื่อให้ทุกภาคส่วนของสังคม ร่วมดำเนินการรับรองการเปลี่ยนแปลงสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างมีคุณภาพ สืบเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน จึงก่อให้เกิดเป็นนวัตกรรม (“ผู้สูงอายุ สุขภาพดี มีภูมิปัญญา จิตอาสา พัฒนาสังคม”(Promoting Physical and Mental Well-being and Elderly Volunteering for Community Development) ของปีนี้ โดยการทำงานต้องเน้นการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นให้ครอบคลุม 3 แนวทาง คือ 1) สร้างการมีส่วนร่วม 2) สร้างองค์กรแห่งการเรียนรู้ 3) สร้างสังคมผู้สูงวัยสุขภาพดี
อย่างไรก็ตาม สำหรับทุกแนวทางการบริหารดังกล่าว ต้องมีการเชื่อมโยงกับชุมชนได้ด้วย และมีกระบวนการดำเนินงานแบบองค์รวม (4 ด้าน) ประกอบด้วย 1. สุขภาพดี พัฒนาการแก้ไขปัญหาสุขภาพผู้สูงอายุ โดยใช้มิติสุขภาพ 4 ด้าน ได้แก่ ด้านร่างกาย จิตใจ สังคมและสติปัญญา เป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน เพื่อจัดระบบบริการด้านสุขภาพให้สามารถรองรับการดูแลผู้สูงอายุได้อย่างทั่วถึง และรวดเร็ว 2. มีภูมิปัญญา ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพรูปแบบโรงเรียนผู้สูงอายุโดยการถ่ายทอดภูมิปัญญาสู่คนรุ่นหลัง(ผู้เฒ่าสอนหลาน) เป็นกิจกรรมสานความสัมพันธ์ระหว่างวัย สร้างคุณค่าให้แก่ผู้สูงอายุเป็นตัวอย่างของคนในชุมชน เกิดความภูมิใจ ในตัวเอง 3. จิตอาสา ส่งเสริมการมีจิตอาสาต่อสังคม สร้างแกนนำจิตอาสา ร่วมพัฒนาชุมชนอย่างต่อเนื่องสร้างกระบวนการร่วมรับรู้ ร่วมลงมือทำและรับประโยชน์ และ 4. พัฒนาสังคม การนำศาสตร์ของพระราชาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนของในหลวงรัชกาลที่ 9 เพื่อดำเนินวิถีชีวิตอยู่เย็นเป็นสุข ส่งเสริมการสร้างรายได้ ลดรายจ่าย ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง และมีศักยภาพ เห็นคุณค่าในตนเองมีรายได้เสริม
——————————
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: