ข่าวการติดอยู่ในถ้ำของนักฟุตบอลทีมหมูป่า เป็นสิ่งที่สื่อทั่วโลกให้ความสนใจ และรายงานข่าวนี้กันอย่างครึกโครมและเกาะติดทุกวินาที รวมถึงนิวยอร์กไทมส์ที่รายงานนาทีสำคัญที่ทำให้นักดำน้ำอังกฤษพบเด็กๆ ทีมหมูป่า
นิวยอร์กไทมส์ ระบุว่าระหว่างที่นายจอห์น โวลันเธน ดำน้ำเพื่อนำเชือกไปปักเป็นแนวนั้น เชือกสุดพอดี เขาจึงต้องโผล่พ้นน้ำขึ้นมาและเห็นสายตาของเด็กๆ จ้องมาที่เขา หากเชือกของเขาสั้นกว่า 15 ฟุต เขาคงต้องหันหลังกลับและไม่เจอเด็กๆ
นายเวอร์นอน อันส์เวิร์ธ เพื่อนของนายโวลันเธน ซึ่งเป็นนักสำรวจถ้ำจากอังกฤษและสำรวจถ้ำหลวงมากว่า 6 ปี เล่าว่าเชือกของนายโวลันเธนที่นำไปปักในดินโคลนนั้นสุดพอดี ส่วนเด็กๆ ก็มองลงมาพอดี
โดยช่วงคืนวันจันทร์ (1 ก.ค.) นายโวลันเธนกับนายริค สแตนตัน ทำหน้าที่นำในการปักเชือกเพื่อเป็นแนวสำหรับนักดำน้ำที่ต้องดำไปในกระแสน้ำที่บางครั้งก็ดำมืด บางครั้งก็เชี่ยวกราก
และแล้วเชือกของนายโวลันเธนก็หมด ทำให้เขาต้องโผล่ขึ้นมาบนผิวน้ำ และเห็นกลุ่มเด็กๆ ยืนบ้าง นั่งบ้าง เขาโล่งอกมากที่เห็นทุกคนมีชีวิตอยู่ ส่วนเด็กๆ ก็ตื่นเต้นที่จะได้กินอาหาร
นายโวลันเธนเป็นคนเดียวกับที่ไม่ได้ให้สัมภาษณ์นักข่าวตอนที่เดินเข้าไปในถ้ำเมื่อ 6 วันก่อนด้วยการพูดเพียงสั้นๆ ว่า “เรามีงานต้องทำ”
ด้านหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์สัมภาษณ์นายแอนดี เอวิส โฆษกสมาคมนักสำรวจถ้ำอังกฤษ ที่บอกว่า หากจะมีใครที่หาเด็กๆ ทีมนักบอลพบ ก็น่าจะเป็นนายสแตนตันกับนายโวลันเธนนี่แหละ เพราะสองคนนี้เป็นนักดำน้ำฝีมือเยี่ยมที่สุดในโลก
นายเอวิสระบุว่ากรณีที่ถ้ำหลวงนี้อาจแตกต่างจากสิ่งที่นายสแตนตันกับนายโวลันเธนทำอยู่ปกติ ตรงที่กระแสการไหลของน้ำ เพราะทั้งคู่ต้องดำทวนกระแสน้ำเข้าไปหาเด็กๆ
เอวิสบอกว่านายสแตนตันได้รับการยอมรับว่าเป็นนักดำน้ำในถ้ำที่เชี่ยวชาญที่สุดคนหนึ่งของยุโรป ด้วยประสบการณ์การดำน้ำในถ้ำมานานกว่า 30 ปี ทั้งยังเคยเป็นพนักงานดับเพลิง และเคยทำสิ่งน่าทึ่งมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการดำน้ำลึก 70 เมตรในถ้ำแห่งหนึ่งของฝรั่งเศส
นอกจากนั้น ทั้งคู่ยังเคยอยู่ใต้น้ำเป็นเวลา 36 ชั่วโมง และต้อง decompress เป็นเวลา 20 ชั่วโมง ซึ่งล้วนเป็นสถิติระดับโลกสำหรับการดำน้ำในถ้ำ
ทั้งคู่เคยปฏิบัติภารกิจช่วยเหลือมาแล้ว อย่างในปี 2553 ที่ช่วยหานักดำน้ำฝรั่งเศสแต่พบเพียงร่างที่สิ้นลม
ส่วนเมื่อปี 2547 นายสแตนตันกับนายเจสัน มัลลินสัน เคยช่วยชีวิตชาวอังกฤษ 6 คนที่ติดอยู่ในถ้ำเม็กซิโกเพราะฝนตกทำให้ปริมาณน้ำในถ้ำสูงขึ้น โดยในครั้งนั้นนายสแตนตันโน้มน้าวให้ชาวอังกฤษคนหนึ่งที่กลัวน้ำ สามารถดำลงไปใต้น้ำ 180 เมตรและออกมาได้สำเร็จ
อย่างไรก็ตาม Divernet ระบุว่าในกรณีของถ้ำหลวงที่เชียงรายนั้น สถานการณ์อาจแตกต่างออกไปอย่างมาก
ขณะที่นายบิล ไวท์เฮาส์ รองประธานสภากู้ภัยในถ้ำแห่งอังกฤษ ซึ่งติดต่อกับสองนักดำน้ำตั้งแต่เจอทีมหมูป่า ให้สัมภาษณ์บีบีซีว่าทั้งคู่มีทักษะและความชำนาญ พร้อมเล่าถึงการดำน้ำไป-กลับ 3 ชั่วโมงยังเนินนมสาวที่เด็กๆ ติดอยู่ว่า “ค่อนข้างยาก”
สองนักดำน้ำเคยบอกกับ Divernet ว่าการดำน้ำในถ้ำเป็น”งานอดิเรก”และเป็นงาน”อาสาสมัคร”จริงๆ นอกจากนั้น นายโวลันเธนยังช่วยพัฒนาเทคโนโลยี rebreather ที่เปิดโอกาสให้นักดำน้ำอยู่ใต้น้ำได้นานขึ้น
นายโวลันเธนซึ่งเป็นวิศวกรคอมพิวเตอร์ เคยให้สัมภาษณ์ซันเดย์ไทมส์ว่าความลับของการดำน้ำในถ้ำคือทำใจนิ่งๆ
“ความตื่นเต้นและอะดรีนาลีนเป็นสิ่งดีในบางสถานการณ์ แต่ไม่ใช่สำหรับการดำน้ำในถ้ำ สิ่งสุดท้ายที่คุณต้องการคืออะดรีนาลีนอะไรพวกนี้” นายโวลันเธนบอก พร้อมเสริมว่า “เมื่ออยู่ใต้น้ำ สิ่งต่างๆ เกิดขึ้นอย่างช้าๆ หากไปกระโดดร่มแล้วร่มเกิดไม่กาง คุณมีเวลาไม่กี่วินาทีใคร่ครวญชะตากรรม แต่หากเกิดอะไรผิดพลาดขึ้นลึกลงไป 10 กิโลเมตรใต้น้ำ คุณมักมีเวลาจนกว่าอากาศจะหมดในการหาทางออกหรือทำใจ”
ส่วนนายสแตนตันเคยให้สัมภาษณ์ Divenet ว่าเรียนดำน้ำสมัยมหาวิทยาลัยแต่เรียนรู้การดำน้ำในถ้ำด้วยตัวเอง พร้อมระบุว่ามหาสมุทรส่วนใหญ่ แม้ยังไม่มีใครเข้าไปสำรวจ แต่ก็มีการทำแผนที่หมดแล้ว ทำให้รู้ว่าจุดไหนลึกเท่าไร แต่ในถ้ำนั้นจะไม่มีทางทราบว่าทางข้างหน้าจะลาดลงหรือชันขึ้น ไปทางซ้ายหรือทางขวา ไม่มีเทคโนโลยีอะไรมาคอยบอกนอกจากต้องเข้าไป
ด้านซีเอ็นเอ็นรายงานว่านายบิล ไวท์เฮาส์ รองประธานสภากู้ภัยในถ้ำของอังกฤษ ได้ระบุในแถลงการณ์ว่า เชื่อว่าฝนจะทิ้งช่วง ทำให้มีเวลาใคร่ครวญในการช่วยเหลือเด็กๆ กระนั้น แม้ระดับน้ำลดลงแล้ว แต่การดำน้ำยังยากอยู่และความพยายามให้เด็กๆกับโคชดำน้ำออกมา มีเรื่องท้าทายทางเทคนิคและความเสี่ยงต่างๆ ที่ต้องคำนึงถึง
ไวท์เฮาส์กล่าวว่าในอังกฤษมีอุปกรณ์อิเลกทรอนิกที่อาจเหมาะสมในการชี้จุดที่อยู่ของเด็กๆ ได้อย่างแม่นยำ แต่เด็กๆ อยู่ในพื้นที่ค่อนข้างแคบ อันจะทำให้ความพยายามเจาะเพื่อเข้าไปช่วยเหลือ ทำได้ยากมาก พร้อมเสริมว่าจะมีการส่งอุปกรณ์ที่จำเป็นมายังไทย หากผู้เชี่ยวชาญทางเทคนิคเห็นความเป็นไปได้ว่าจะสามารถใช้งานได้
นายพอล เออบาช ศาสตราจารย์ด้านการแพทย์ฉุกเฉินแห่งมหาวิทยาลันสแตนฟอร์ด แสดงความเห็นว่าปฏิบัติการนำเด็กๆ ออกมาเป็นเรื่องซับซ้อน แม้สิ่งนี้สามารถจัดการได้แต่ต้องให้แน่ว่าเด็กๆ มีความพร้อมทางร่างกายและจิตใจ
นายเบน เรย์เมแนนต์ นักดำน้ำเบลเยียมที่มาช่วยในการค้นหาครั้งนี้ ให้สัมภาษณ์สกายนิวส์ ว่าการนำเด็กๆ ออกมาในสภาพที่ยังอ่อนแอ ขณะที่กระแสน้ำมีความเชี่ยวและเส้นทางคับแคบนั้น จะเป็นงานยากและอันตราย พร้อมเสริมว่านี่เป็นการดำน้ำในถ้ำที่ยากที่สุดครั้งหนึ่งที่เขาเคยประสบมา เพราะหนทางทั้งไกลและซับซ้อน มีปัจจัยอย่างเรื่องของกระแสน้ำ ทัศนวิสัยในการมองเห็นซึ่งหลายครั้งไม่สามารถมองเห็นอะไรเลย
นายเรย์เมแนนต์กล่าวด้วยว่าพอฝนเริ่มตก กระแสน้ำจะเชี่ยวและแรงมากจนว่ายทวนน้ำไปแทบไม่ได้
นายอันส์เวิร์ธกล่าวว่าจะเป็นการดีกว่าหากให้นักดำน้ำที่มีประสบการณ์ พาเด็กๆ ออกมาทันที แทนที่จะรอเป็นเดือนๆ โดยอาจให้เด็กๆ ใช้หน้ากากแบบสวมเต็มหน้าเพื่อจะได้ไม่ต้องเรียนวิธีหายใจ อันเป็นวิธีที่นักดำน้ำส่วนใหญ่ใช้
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: