กระทรวงวิทย์ฯ ชวนจับตา “10 เรื่องดาราศาสตร์ที่น่าติดตามในปี 2562” ชูเรื่องเด่นครบรอบเหตุการณ์และการค้นพบสำคัญทางดาราศาสตร์ อัพเดทข้อมูลโครงสร้างพื้นฐานดาราศาสตร์ “กล้องโทรทรรศน์วิทยุแห่งชาติ” ขนาดใหญ่ที่สุดในอาเซียน พร้อมเดินหน้าสร้าง “ดาวเทียมวิจัย” โดยคนไทย เพื่อคนไทย พร้อมเผยปรากฏการณ์ดาราศาสตร์น่าติดตามตลอดปี
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) ชวนคนไทยติดตาม “10 เรื่องดาราศาสตร์น่าติดตามในปี 2562” เพื่อเผยแพร่ข้อมูลปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ที่สำคัญและความก้าวหน้าทางดาราศาสตร์ของไทย รวมถึงกิจกรรมทางดาราศาสตร์ในปี 2562
ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์ กล่าวว่ามีหลากหลายประเด็นที่ทาง สดร. ได้นำมาสรุปเป็น 10 เรื่องเด่นที่น่าจับตา ดังนี้
1) ครบรอบ 50 ปี ยานอะพอลโล 11 นำมนุษย์เหยียบบนดวงจันทร์เป็นครั้งแรก (21 กรกฎาคม) ภารกิจที่ก่อให้เกิดความก้าวหน้ามหาศาลทั้งด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
2) ครบรอบ 100 ปี สุริยุปราคาเต็มดวงพิสูจน์ทฤษฎีสัมพันธภาพทั่วไปของไอน์สไตน์ (29 พฤษภาคม) การพิสูจน์ที่ทำให้มุมมองของมนุษย์ต่อเอกภพเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง
3) เดินหน้าปักหมุดสร้าง “หอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์วิทยุแห่งชาติ” ติดตั้ง “กล้องโทรทรรศน์วิทยุแห่งชาติ” ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 40 เมตร ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อีกหนึ่งโครงสร้าง พื้นฐานทางดาราศาสตร์ของไทย ขยายขีดความสามารถงานวิจัยด้านดาราศาสตร์ในช่วงคลื่นวิทยุ และ เชื่อมเครือข่ายร่วมกับกล้องโทรทรรศน์วิทยุนานาชาติ เพื่อการพัฒนางานวิจัยระดับโลก
4) เตรียมสร้าง “ดาวเทียมวิจัย” ของคนไทย โดยคนไทย เพื่อคนไทย ผสานภาคี 3 สถาบัน ได้แก่สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) และสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) หวังใช้ดาราศาสตร์เป็นโจทย์สร้างเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ก้าวแรกในการพัฒนาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมอวกาศและดาวเทียมของไทย
5) กลางปีพร้อมเปิด “หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา สงขลา” หอดูดาวภูมิภาคสำหรับประชาชนเต็มรูปแบบ แห่งที่ 3 ของไทย (25 กรกฎาคม) เพื่อบริการวิชาการดาราศาสตร์ สนับสนุนงานวิจัยดาราศาสตร์สำหรับนักเรียน นักศึกษา และสถาบันการศึกษาในภาคใต้ และเป็นศูนย์เรียนรู้ดาราศาสตร์มุสลิมอย่างครบวงจร
6) จันทรุปราคาบางส่วนและสุริยุปราคาบางส่วนเหนือฟ้าเมืองไทย ปรากฏการณ์จันทรุปราคาบางส่วน : 17 กรกฎาคม สังเกตได้ทุกภูมิภาคของไทย ตั้งแต่เวลาประมาณ 01:44 – 06:00 น. (ตามเวลาประเทศไทย) ปรากฏการณ์สุริยุปราคาบางส่วน : 26 ธันวาคม สังเกตได้ทุกภูมิภาคของไทย ตั้งแต่เวลาประมาณ 10:18 – 13:57 น. (ตามเวลาประเทศไทย) ดวงอาทิตย์ถูกบังมากที่สุดบริเวณภาคใต้ที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ประมาณร้อยละ 81
7) ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้-ไกลโลกที่สุดในรอบปี ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี หรือ ซูเปอร์ ฟูลมูน (Super Full Moon) : 19 กุมภาพันธ์ และ ดวงจันทร์เต็มดวงไกลโลกที่สุดในรอบปี หรือ ไมโครฟูลมูน (Micro Full Moon) : 14 กันยายน
8) ดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์ใกล้โลก ดาวพฤหัสบดีใกล้โลก : 10 มิถุนายน และดาวเสาร์ใกล้โลก : 9 กรกฎาคม โอกาสดีที่จะสังเกตการณ์ได้ยาวนานตลอดคืนตั้งแต่อาทิตย์ตกลับขอบฟ้าจนถึงรุ่งเช้า
9) ฝนดาวตก มีตลอดทั้งปี แต่ที่น่าจับตาได้แก่ ฝนดาวตกควอดรานติดส์ : 3-4 มกราคม (เฉลี่ย 120 ดวงต่อชั่วโมง) ฝนดาวตกอีต้า-อควอริดส์ : 6-7 พฤษภาคม (เฉลี่ย 50 ดวงต่อชั่วโมง) และ ฝนดาวตกเดลต้า-อควอริดส์ : 30-31 กรกฎาคม (เฉลี่ย 25 ดวงต่อชั่วโมง)
10) ชวนชาวไทยจัับตาข้ามปี “ดาวเสาร์เคียงดาวพฤหัสบดี” (The Great Conjunction 2020) ดาวเสาร์และดาวพฤหัสบดีเริ่มขยับเข้าใกล้ตั้งแต่ปลายปี 2561 และจะเข้าใกล้กันที่สุด ในวันที่ 21 ธันวาคม 2563 ห่างเพียง 0.1 องศา มองด้วยตาจะเห็นเป็นดาวดวงเดียวกัน นับเป็นการเข้าใกล้กันที่สุดในรอบ 397 ปี
ดร. ศรัณย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจาก 10 เรื่องดาราศาสตร์ที่น่าติดตาม ปี 2562 ยังเป็นปีแห่งวาระพิเศษที่สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ดำเนินงานครบรอบ 10 ปี การดำเนินงานที่ผ่านมา สถาบันฯ ได้เน้นการพัฒนาองค์ความรู้ดาราศาสตร์ พัฒนาบุคลากร สร้างความตระหนักและความตื่นตัวทางดาราศาสตร์ ตลอดจนประสานความร่วมมือกับเครือข่ายดาราศาสตร์ระดับนานาชาติ เพื่อยกระดับการพัฒนาเทคโนโลยี พร้อมทั้งถ่ายทอดความรู้ดาราศาสตร์ สร้างแรงบันดาลใจใฝ่รู้วิทยาศาสตร์ให้แก่เยาวชน นับเป็นการเสริมความเข้มแข็งด้านองค์ความรู้ในทุกระดับ และสถาบันฯ จะยังคงเดินหน้าใช้เทคโนโลยีดาราศาสตร์เป็นเครื่องมือพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อสร้างคนเก่งมาช่วยขับเคลื่อนประเทศชาติต่อไป ทั้งนี้ ขอเชิญชวนทุกท่านติดตามข่าวสารกิจกรรมพิเศษครบรอบ 10 ปี ในปีหน้าด้วย
อ่านเพื่มเติม ได้ที่ www.facebook.com/NARITpage หรือ www.NARIT.or.th
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: