X
โซลาร์เซล

กฟผ.ร่วมนักวิจัย คิดค้นโซลาร์เซลล์กึ่งใสมาใช้ในนาข้าว

กฟผ. – นักวิจัยไทย โชว์ผลงาน “นวัตกรรมปันแสงแบ่งข้าวเพื่อชุมชน” คิดค้นโซลาร์เซลล์กึ่งใสมาใช้ในการปลูกพืช นำนวัตกรรมพลังงานมาใช้ประโยชน์ในพื้นที่เกษตร ได้ผล 2 ต่อ พืชเติบโตตามปกติ ทั้งยังนำพลังงานที่ได้มาใช้ประโยชน์อื่นๆ ช่วยให้เกษตรกรลดรายจ่าย มีชีวิตที่ดีขึ้น

ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานในพิธีเปิดนิทรรศการ “นวัตกรรมปันแสงแบ่งข้าวเพื่อชุมชน” จัดแสดงโครงการวิจัยการนำโซลาร์เซลล์กึ่งใสมาใช้ร่วมกับการทำเกษตรกรรมการปลูกพืช โดยมี นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ผศ.ดร.สุรเชษฐ เดชฟุ้ง หัวหน้าโครงการฯ คณะผู้บริหารและพนักงาน กฟผ. เข้าร่วมงาน ณ   สวนน้ำพระทัย โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ อ.บางกรวย จ.นนทบุรี

ดร.ศิริ  กล่าวว่า กระทรวงพลังงานมุ่งเน้นการพัฒนานวัตกรรมพลังงานเพื่อความยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมพัฒนาทุกภาคส่วน ทุกระดับ และทุกอาชีพ ตามนโยบาย Thailand 4.0 เพื่อมุ่งสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน    โดยพัฒนานวัตกรรมและงานวิจัย เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนในประเทศให้ดีขึ้น โดยเฉพาะเกษตรกรซึ่งเป็นประชาชนกลุ่มใหญ่ของประเทศ โดยบูรณาการใช้ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีและความรู้ของนักวิจัยไทย จัดทำโครงการ “นวัตกรรมปันแสงแบ่งข้าวเพื่อชุมชน” วิจัยการใช้โซลาร์เซลล์กึ่งใสร่วมกับการทำเกษตรกรรมการปลูกพืช

เป็นโครงการนำร่องที่จะช่วยยกระดับเกษตรกรรมไทย ด้วยการนำนวัตกรรมพลังงานมาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการด้านเกษตรกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นการใช้งานพื้นที่เกษตรกรรมของชุมชนให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งประโยชน์จะตกอยู่กับเกษตรกรโดยตรง เกษตรกรสามารถปลูกพืชได้ผลดีดังเดิม และสามารถนำพลังงานไฟฟ้าที่ได้จากแสงอาทิตย์มาใช้ในครัวเรือนและระบบสูบน้ำ ซึ่งจะช่วยให้     ลดค่าใช้จ่ายลงได้ และผลการวิจัยในครั้งนี้ยังเป็นฝีมือคนไทยที่น่าภาคภูมิใจอย่างยิ่ง

ด้าน นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวว่า กฟผ. เห็นถึงความสำคัญของงานวิจัยและนวัตกรรมที่สร้างประโยชน์ให้กับสังคม ซึ่ง “นวัตกรรมปันแสงแบ่งข้าวเพื่อชุมชน” เป็นโครงการวิจัยการใช้โซลาร์เซลล์กึ่งใสร่วมกับการทำเกษตรกรรมการปลูกข้าวพันธุ์ไรซ์เบอรี่ ซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวเศรษฐกิจที่มีคุณค่าทางอาหารและได้รับความนิยมสูง โดยดำเนินโครงการร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม และกรมพัฒนาที่ดิน บนพื้นที่บริเวณสวนน้ำพระทัย โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ เพื่อสร้างความเชื่อมโยงในการผลิตไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อภาคการเกษตร โดยน้ำที่ใช้ในการปลูกข้าวนำมาจากบ่อพักน้ำของโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ ชุดที่ 2 ที่ผ่านการปรับสภาพน้ำและผ่านการตรวจสอบจากห้องทดลองที่รับรองมาตรฐานแล้วว่าสามารถใช้ปลูกพืชทางการเกษตรและสามารถรับประทานได้อย่างปลอดภัย

นอกจากนี้ พลังงานไฟฟ้าที่ได้จากโซลาร์เซลล์ในโครงการวิจัยดังกล่าว ได้ถูกส่งไปใช้ที่ห้องควบคุมไฟฟ้าและเครื่องสูบน้ำของโครงการวิจัย รวมถึงใช้ในอาคาร Co-Working Space ของโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ มาตั้งแต่เริ่มโครงการในเดือนพฤศจิกายน 2561 จนถึงปัจจุบัน สามารถลดการใช้พลังงานได้ถึง 18,000 หน่วย และลดค่าใช้จ่ายได้กว่า72,000 บาท จึงพิสูจน์ได้ว่า โครงการวิจัยสามารถบูรณาการด้านพลังงานไฟฟ้าและสามารถปลูกพืชทางการเกษตรให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และชุมชนได้อย่างยั่งยืน

สำหรับ การนำโซลาร์เซลล์กึ่งใสมาใช้ร่วมกับการปลูกข้าว จะทำให้เกษตรกรสามารถนำพลังงานที่ผลิตได้ในพื้นที่นาข้าวมาใช้ประโยชน์ใช้ในกิจกรรมทางการเกษตรอื่นๆ หรือใช้ในบ้านเรือน อีกทั้ง กฟผ. ยังมีแนวทางพัฒนาต่อยอด โดยจะนำข้อมูลจากงานวิจัยไปประยุกต์ใช้ในการปลูกพืชเศรษฐกิจชนิดอื่นๆ ที่มีมูลค่าสูง สำหรับชุมชน เกษตรกรรม และโรงเรียน รวมถึงเป็นต้นแบบการพัฒนาไปสู่ระบบฟาร์มอัจฉริยะ (Smart Farm) ในอนาคต

ผศ.ดร.สุรเชษฐ เดชฟุ้ง หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการวิจัยการนำโซลาร์เซลล์กึ่งใสมาใช้กับเกษตรกรรมการปลูกข้าว ได้มีการออกแบบแผงโซลาร์เซลล์กึ่งใสให้มีลักษณะเป็นตารางหมากรุกสลับกับช่องใส โดยใช้โซลาร์เซลล์กึ่งใสที่ทำจากซิลิคอนชนิดผลึกรวม (Polycrystalline Silicon Solar Cell) จำนวน 227 แผง ให้พลังงานไฟฟ้า 155 วัตต์ต่อแผง กำลังผลิตติดตั้ง 35.19 กิโลวัตต์ วางแผงโซลาร์เซลล์ทำมุม 17 องศา หันรับแสงทางทิศใต้ ความสูงประมาณ 4 เมตร โดยอาศัยหลักการปรับอัตราส่วนพื้นที่ทึบแสงต่อพื้นที่โปร่งแสงในแผ่นโซลาร์เซลล์ตามความต้องการความเข้มแสงที่แตกต่างกันของพืช

พร้อมติดตั้งระบบติดตามข้อมูลด้วยเซนเซอร์ผ่านระบบอินเตอร์เน็ตแบบ Real Time ได้แก่ ตัววัดค่าความเข้มแสง อุณหภูมิ ความชื้นอากาศ ความเร็วลม ระดับน้ำ ความแข็งแรงของโครงสร้าง และ Power Flow จากการวิจัยพบว่า ข้าวพันธุ์ Rice berry ใช้เวลาปลูกจนถึงเก็บเกี่ยวประมาณ 130 – 150วัน ด้วยวิธีการปลูกข้าวแบบออแกนิคทั้งหมด ได้แก่ การใช้กากชาในการกำจัดหอยเชอรี่ ฉีดพ่นสารสะเดาเพื่อป้องกันแมลงและเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ฉีดพ่นฮอร์โมนไข่เพื่อบำรุงต้นข้าวให้สมบูรณ์แข็งแรง ใช้ปุ๋ยหมักในการบำรุงดิน ไล่นกโดยใช้ระบบคลื่นเสียง ไล่หนูด้วยวิธีควบคุมระดับน้ำให้อยู่ในปริมาณที่พอเหมาะเพื่อป้องกันหนู จึงทำให้การเจริญเติบโตของต้นข้าวและสีข้าวในโครงการวิจัย ไม่แตกต่างจากวิธีการปลูกปกติ สามารถรับประทานได้อย่างปลอดภัย

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of ทศพร โชคชัยผล

ทศพร โชคชัยผล

ทำงานข่าวกว่า 20 ปี มีความสนใจความเปลี่ยนแปลงทางสังคมในหลายมิติ ผ่านประสบการณ์ทำข่าวสายเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล