เปิดตัวระบบ “ศสป.-Media Fun Facts” ทำหน้าที่เฝ้าระวัง พร้อมรับแจ้งเรื่องราวข่าวปลอม-สื่อร้าย-สื่อดีที่ประชาชนพบเจอในอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดีย จากนั้นมีทีมงานประสานตรวจสอบข้อเท็จจริงร่วมกับภาคีเครือข่าย มุ่งสร้างสังคมออนไลน์คุณภาพ มีบริการทั้งในรูปแบบเว็บไซต์, เอ็กซ์เทนชั่นกูเกิลโครม-ไฟร์ฟ็อกซ์ รวมถึงเฟซบุ๊กเพจ ซึ่งมากับ “แชทบอต”
กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เปิดตัว โครงการเครือข่ายศูนย์รับแจ้งและติดตามผ่านช่องทางระบบสื่อออนไลน์และโซเชียลมีเดีย เพื่อการส่งเสริมสื่อสร้างสรรค์และป้องปรามสื่อที่ไม่ปลอดภัย (ศสป.) ผ่านเครื่องมือ “Media Fun Facts ป้องปรามสื่อร้าย ขยายสื่อดี” โดยมี นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวเปิดงาน นอกจากนั้น ยังมีตัวแทนภาคีเครือข่ายจากภาครัฐ ภาคเอกชน สถานศึกษา และสื่อมวลชนเข้าร่วมงาน
นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า ทางกองทุนรู้สึกยินดีที่มีส่วนในการสนับสนุนโครงการ ศสป.-Media Fun Facts เนื่องจากจะเข้ามาช่วยลดสื่อร้ายและเพิ่มปริมาณของสื่อดี สามารถสร้างการรู้เท่าทันสื่อให้ประชาชนสามารถใช้สื่อโดยเฉพาะสื่อดิจิทัลให้เป็นประโยชน์กับตัวเอง ชุมชน และสังคมโดยรวม นอกจากนี้ ยังเป็นการเปิดพื้นที่ให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมให้ข้อมูลเกี่ยวกับสื่อที่ไม่ดี ในขณะเดียวกันก็ยังสามารถสนับสนุนให้สื่อดี ๆ ได้รับการเผยแพร่มากขึ้น
นายวสันต์ ระบุว่า ที่ผ่านมากองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยฯ ก็ได้มีการร่วมมือกับโครงการที่มีลักษณะเช่นเดียวกันนี้มาแล้ว เช่น รายการชัวร์ก่อนแชร์ ของทาง อสมท. เป็นต้น โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการติดตามเฝ้าระวัง และมีส่วนร่วมทำให้เกิดสื่อดี ๆ สื่อปลอดภัย และสร้างสรรค์ เพิ่มพื้นที่สื่อที่เป็นประโยชน์โดยเฉพาะสำหรับเด็กและเยาวชน
“เป้าหมายหลังจากนี้ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จะเพิ่มความสำคัญในเรื่องของงานส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อ การรู้เท่าทันดิจิทัล และการรู้เท่าทันสารสนเทศให้มากขึ้น โดยเฉพาะการให้ความสำคัญในเรื่องของการเฝ้าระวังภัยจากข้อมูลร้ายหรือไม่จริง ซึ่งในยุคนี้ประชาชนทุกคนสามารถสื่อสารกันได้อย่างรวดเร็วและเข้ามามีส่วนร่วมได้ ทั้งนี้ ผมเชื่อว่าโครงการ Media Fun Facts จะสามารถคัดกรองข้อมูลข่าวสารให้คนใช้สื่อรับรู้ข้อมูลที่เป็นจริง สร้างทักษะในส่วนของการใช้วิจารณญาณในการเสพข้อมูลต่อไป” ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อฯ กล่าว
“ประชาชนทั่วไป รวมทั้งภาคีเครือข่ายสามารถแจ้งคอนเทนต์ ลิงก์ของเพจเฟซบุ๊ก และลิงก์ของเว็บต่าง ๆ ที่พบบนโลกออนไลน์เข้ามาที่ระบบ จากนั้นข้อมูลจะส่งมาที่ทีมงาน โดยทางทีมงานจะประสานกับทีมเครือข่ายและกลุ่มผู้สื่อข่าวออกไปตรวจสอบข้อเท็จจริง แล้วนำมาเสนอในรูปแบบข้อมูลบทความ วิดีโอ และอินโฟกราฟิก เผยแพร่สู่สาธารณะ เพื่อให้ข้อมูลที่ถูกต้องได้แพร่กระจายออกไปสู่สังคมในวงกว้างต่อไป รวมถึงมีระบบหลังบ้านจัดทำสถิติ บันทึกข้อมูลต่าง ๆ เพื่อวิเคราะห์ใช้เป็นแนวทางวางยุทธศาสตร์เฝ้าระวังสื่อร้าย-ขยายผลสื่อดีในออนไลน์ต่อไป” นายวันเสาร์ กล่าว
โครงการ Media Fun Facts มีแผนดำเนินการไปถึงปลายปี 2561 ในขั้นตอนต่อไปจะจัดกิจกรรมห้องเรียนออนไลน์ เพื่ออบรมสมาชิกภาคีเครือข่ายอีก 3 ครั้ง ส่วนระบบฟังก์ชั่นต่าง ๆ จะพัฒนาอย่างต่อเนื่อง หลังจากได้รับคำแนะนำติชมจากประชาชนและภาคีที่เข้าร่วมอบรม ผู้ที่สนใจต้องการร่วมเป็นภาคีเครือข่าย เปิดกว้างทั้งภาครัฐและเอกชน สามารถติดต่อได้ที่เว็บไซต์ www.mediafunfacts.in.th สุดท้ายนี้ ทางโครงการอยากให้ประชาชนเข้ามาทดลองใช้บริการ Media Fun Facts มาร่วมสร้างสรรค์คอนเทนต์ที่ดีเข้าสู่โลกออนไลน์และโซเชียลมีเดียให้มากยิ่งขึ้น เพื่อสร้างสังคมคุณภาพ ปราศจากข่าวเท็จหรือข่าวลวงต่าง ๆ
ด้าน นายพีรพล อนุตรโสตถิ์ ผู้ผลิตและพิธีกรรายการ ชัวร์ก่อนแชร์ ทางช่อง MCOT ซึ่งมาร่วมงานได้ขึ้นเวทีเล่าถึงประสบการณ์การตรวจสอบข้อมูลเท็จที่ถูกส่งต่อจำนวนมากในโลกออนไลน์ว่า จุดเริ่มต้นของรายการชัวร์ก่อนแชร์ มาจากความต้องการหาทางออกในการแก้ไขปัญหาข่าวไม่จริงที่ถูกแชร์ออกไปอย่างกว้างขวางในโลกออนไลน์ ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาตามมาจำนวนมากในหลากหลายมิติ ซึ่งบางเรื่องก็เป็นสิ่งที่ผู้บริโภคสื่อบางคนไม่สามารถตรวจสอบข้อเท็จจริงได้เองจากอินเทอร์เน็ต
ดังนั้น หากมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับข่าวที่ไม่เป็นจริงเก็บเอาไว้ในฐานข้อมูล ก็จะสามารถนำกลับมาใช้อ้างอิงหรือตรวจสอบข่าวในลักษณะเดียวกันที่อาจจะวนกลับมานำเสนอใหม่อีกครั้งได้
นอกจากนี้ การเพิ่มความรู้เท่าทันสื่อก็สามารถแก้ปัญหาการถูกหลอกโดยใช้ข่าวไม่จริง เพื่อผลประโยชน์อะไรบางอย่าง รวมถึงลักษณะการขายสินค้าออนไลน์ โดยการอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง ซึ่งหากมีเครื่องมือ Media Fun Facts ก็จะสามารถเป็นช่องทางใหม่ให้ประชาชนใช้ตรวจสอบข้อมูลหรือข่าวเท็จได้ง่ายขึ้น
ขณะที่ น.ส.ฐิตาภรณ์ ตั้งทรัพย์ดวงโต นักศึกษาสาขาการตลาด วิทยาลัยเทคโนโลยีพงษ์สวัสดิ์ กล่าวว่า ปัจจุบันข่าวบนโลกออนไลน์มีหลากหลายรูปแบบ และหลายคนตกเป็นเหยื่อหลงเชื่อในข้อมูลต่าง ๆ เวลาเสพข่าวเราจึงควรมีวิจารณญาณ และหาต้นตอของข่าวนั้นด้วย บางเรื่องก็สามารถทำได้เอง บางเรื่องก็ยากที่จะหาข้อมูล ซึ่งระบบ Media Fun Facts จะช่วยให้เรากรองข่าวได้ง่ายขึ้น เนื่องจากมีระบบการใช้งานง่าย มีการแจ้งผลการติดตาม และที่สำคัญมีการแจ้งร้องเรียนไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีการตรวจสอบข้อมูลนั้นด้วย ทำให้เรามั่นใจว่าเรื่องดังกล่าวกำลังได้รับการแก้ไขจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง ซึ่งหากทุกคนช่วยกันเฝ้าระวังเป็นหูเป็นตา เชื่อว่าความร่วมมือนี้จะเป็นตัวขับเคลื่อนสังคมได้
นายวุฒิพงษ์ วงษ์ชัยวัฒนกุล นักศึกษาคณะไอซีที มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า ตนเองอยู่กับสื่อออนไลน์ตลอดเวลา ตั้งแต่ตื่นนอนจนเข้านอนก็ว่าได้ ดังนั้น ก่อนจะเชื่อข่าวนั้นจะต้องวิเคราะห์ข้อมูลหลาย ๆ องค์ประกอบ เช่น เป็นข่าวลือหรือไม่ มาจากสำนักข่าวใด หรือมาจากคนที่มีชื่อเสียงในสังคมหรือไม่ เป็นต้น เพราะการแชร์ต่ออาจส่งผลกระทบต่อบุคคลและสังคมในวงกว้าง ส่วนตัวมองว่าเว็บไซต์ที่มีคุณภาพนั้น จะต้องมีแหล่งข้อมูลอ้างอิงที่ชัดเจน ไม่ได้กล่าวอ้างลอย ๆ และมีจรรยาบรรณในการนำเสนอข่าว
เครื่องมือ Media Fun Facts ถือเป็นตัวช่วยในการเฝ้าระวังข่าวอีกช่องทางหนึ่ง เพราะหลายคนไม่รู้ว่าจะไปแจ้งร้องเรียนที่หน่วยงานใด เปรียบเสมือนเป็นศูนย์กลางในการกระจายตรวจสอบข้อมูลข้อเท็จจริง ผ่านความร่วมมือจากหลากหลายภาคีทั้งภาครัฐและภาคประชาชน แต่อย่างไรก็ตาม คนเสพข่าวก็ต้องมีภูมิคุ้มกันตัวเองก่อนด้วย
“MediaFunFacts” คือระบบรับแจ้งเนื้อหาและคอนเทนต์ที่ไม่เหมาะสมในโลกออนไลน์ รวมถึงโซเชียลมีเดีย นอกจากนั้น ก็ยังช่วยส่งเสริม “คอนเทนต์น้ำดี” ให้มีพื้นที่เผยแพร่ไปถึงประชาชนมากยิ่งขึ้นผ่านเครื่องมือสำคัญยุคดิจิทัล 3 ชนิด อันได้แก่
1. เว็บไซต์ https://www.mediafunfacts.in.th/ รับแจ้งลิงก์คอนเทนต์ที่ไม่เหมาะสมและที่เหมาะสมในโลกออนไลน์ เช่น ข่าวปลอม เว็บปลอม เพจรุนแรง ภาพบิดเบือนตัดต่อ การละเมิดลิขสิทธิ์ ล่วงละเมิดเด็ก อนาจาร การพนันออนไลน์ คลิปลวงในโซเชียล ฯลฯ โดยเมื่อแจ้งแล้วจะมีทีมงานแอดมินคอยรับเรื่องตรวจสอบข้อมูลที่รับเข้ามา พร้อมทำหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงร่วมกับภาคีเครือข่าย ก่อนนำข้อมูลที่ถูกต้องที่ได้มาเผยแพร่สู่สาธารณะ
2. ระบบเอ็กซ์เทนชั่น mediafunfacts สำหรับติดตั้งบนเบราเซอร์ กูเกิ้ลโครม และ ไฟร์ฟ็อกซ์ ซึ่งใช้งานสะดวกมาก เพียงแค่ติดตั้งเอ็กซ์เทนชั่นเสริมตัวนี้ เมื่อท่านท่องเว็บ เพจเฟซบุ๊ก ไอจี หรือเนื้อหาในไซเบอร์ที่ไม่ถูกต้องไม่เหมาะสม ก็แค่ “คลิก” ไปที่ไอค่อนโลโก้ “MediaFunFacts” ระบบจะทำการ “ดูด” เอาลิงก์เพจ หรือเว็บนั้นๆ เข้ามาสู่ระบบการตรวจสอบกลั่นกรองข้อเท็จจริง เมื่อได้ข้อสรุปชัดเจนแล้วก็นำข้อมูลมาผลิตเป็นดิจิทัลคอนเทนต์ บทความ ข่าว อินโฟกราฟฟิก วิดีโอคลิป ภาพชุด ฯลฯ
3. เพจเฟซบุ๊กโครงการ ศสป. สื่อสร้างสรรค์ mediafunfacts : https://www.facebook.com/mediafunfacts/ โดยมีความพิเศษตรงการพัฒนาระบบ “แชทบอต” ขึ้นมาเป็นพิเศษ ทำให้ไม่ต้องใช้ทรัพยากรคนจำนวนมาก มานั่งเฝ้าคอยรับแจ้งและตอบกลับด้วยตัวเอง ทั้งนี้ เมื่อแชตบอตได้ข้อมูลรับแจ้งสื่อดี-สื่อร้ายออนไลน์จากประชาชน รวมทั้งภาคีเครือข่ายแล้วก็จะส่งข้อมูลเข้าไปในฐานดาตาเบสและหน้าแดชบอร์ดของเว็บโดยอัตโนมัติ
4. ระบบ Socal Listening : เครื่องมือตรวจสอบกระแสร้อนในโลกไซเบอร์
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: