จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมมือกับการไฟฟ้านครหลวง ไทยเบฟเวอเรจและธนาคารกสิกรไทย เปิดตัวเมืองนวัตกรรมแห่งสยาม (Siam Innovation District) เพื่อให้เป็นสังคมอุดมปัญญาและสร้างนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์สังคม
ในงาน Our Future 2030 ร่วมคิด ร่วมคุย ร่วมสร้างอนาคต ที่เสมือนนำผู้ร่วมงานไปอยู่ในโลกอนาคตยุค 2030 ที่ทุกอย่างพลิกโฉมไปอย่างรวดเร็วจนคาดไม่ถึงพร้อมเปิดเวทีโชว์นวัตกรรมจากนวัตกรรุ่นใหม่ โดยจัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-25 มี.ค. 2561 บริเวณศูนย์การค้าสยามสแควร์วัน และทางเชื่อมสถานีบีทีเอสสยาม
สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่านวัตกรรมไม่ได้มีบทบาทเพียงแค่การเติบโตของเศรษฐกิจเท่านั้นแต่ยังรวมถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน
สิ่งที่สำคัญที่สุดคือนวัตกรรมจะต้องเป็นกลไกในการเสริมพลังให้ประชาชนเข้ามามีบทบาทเชิงรุกและเป็นกลไกสำคัญของการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาลที่มีเป้าหมายให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางโดยการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม
บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬามหาวิทยาลัย กล่าวว่าตั้งใจให้นวัตกรรมแห่งสยามนี้ เป็นพื้นที่สำหรับคนไทยทุกคน ที่จะร่วมแลกเปลี่ยน พูดคุยไปสู่อนาคต ที่ครอบคลุมพื้นที่บริเวณใกล้เคียงสยามสแควร์ เปรียบเสมือนห้องท้องลองขนาดใหญ่ ที่ให้ประชาชนที่มีความสนใจ มีความคิด ในการทดลองทำสิ่งต่างๆ เข้ามาใช้งาน เป็นระบบนิเวศแห่งนวัตกรรม หรือ Innovation Ecosystem
เปิดโอกาสให้เกิดการเรียนรู้ พูดคุยอย่างอิสระ สร้างสรรค์ เพราะในอนาคตศาสตร์ด้านเดียวจะไม่เพียงพอต่อการพัฒนา เชื่อว่าพื้นที่ตรงนี้จะมีการบูรณาการข้ามศาสตร์ จากหลากหลายภาคส่วน ภาครัฐ เอกชน วิชาการและประชาชน
โดยดำเนินการผ่านการมองอนาคต 3 ประเด็น คือชีวิตความเป็นอยู่การคมนาคม และการศึกษาเรียนรู้ซึ่งจะจัดกิจกรรมในหลายรูปแบบ อาทิ
– เวทีสัมมนาสาธารณะเรื่องอนาคต (Future Public Forum) เวทีที่เปิดโอกาสให้เครือข่ายภาคเอกชน ประชาสังคม และนักวิชาการ พูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันในเรื่องอนาคต เพื่อให้เกิดมุมมองอนาคตที่หลากหลาย และกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือของภาคส่วนต่างๆ ที่จะร่วมกันสร้างอนาคตต่อไป
– งานเทศกาลภาพยนตร์แห่งอนาคต (Future Film Festival) กิจกรรมสร้างการรับรู้สาธารณะเรื่องอนาคตที่เกี่ยวข้องกับตัวเราและสังคม ผ่านสื่อภาพยนตร์โดยความร่วมมือกับองค์กรทางวัฒนธรรมจาก 3 ประเทศ คือ บริติชเคาน์ซิล สหราชอาณาจักร, สถาบันเกอเธ่ เยอรมนี และเจแปนฟาวน์เดชั่นญี่ปุ่น
– พื้นที่กลางสาธารณะร่วมสร้างอนาคต (Future Online Platform) กลไกในการทดลองกระบวนการร่วมสร้างอนาคตที่ตั้งอยู่บนฐานความรู้และนวัตกรรมที่ทุกภาคส่วนในสังคมสามารถมีส่วนร่วมกำหนดได้ในหลากหลายระดับทั้งในระดับความคิดการสนับสนุนจนถึงขั้นการลงมือทำให้เกิดขึ้น
– นิทรรศการจากอดีตสู่อนาคต (Future Exhibition) นำเสนอพัฒนาการของประเทศโดยย่อและเชิญชวนให้ประชาชนร่วมกันเดินทางสู่ความเป็นไปได้ ของอนาคตที่หลากหลายเพื่อร่วมกันค้นหาว่าเราจะมาร่วมกันกำหนดต้องการได้อย่างไร
เช่น ภายในอาคาร Siam Innovation District มีนวัตกรรม การให้บริการข้อมูลด้วยระบบ Ar marker ที่ผู้เข้าชมสามารถใช้ Token ที่มีชื่อของข้อมูลต่างๆ วางลงบนโต๊ะในตำแหน่งใดก็ได้ จะปรากฏข้อมูลรายละเอียดตามหัวข้อนั้นๆ โดยสามาถเคลื่อนย้ายได้และสามารถใช้งานได้พร้อมกันโดยไม่เปลืองพื้นที่ เหมาะกับสังคมเมืองที่มีพื้นที่จำกัดในอนาคต
มีการสาธิตระบบปลูกผักไฮโดรโปนิก แบบ Indoor vertical farm หรือระบบปลูกผักแนวตั้งในอาคาร
ที่มีการเพิ่มนวัตกรรมการควบคุมผ่านอินเตอร์เน็ต ที่ผู้ควบสามารถรับรู้ความเปลี่ยนแปลงต่างๆได้ด้วยระบบแจ้งเตือนอัตโนมัติ และสั่งการผ่านทางแอพพลิเคชั่นไลน์ ที่จะช่วยอำนวยความสะดวกของคนที่มีเวลาน้อยและพื้นที่จำกัด แต่สามารถสร้างแหล่งอาหารที่ปลอดภัยได้เอง
เมืองนวัตกรรมแห่งสยาม เป็นอีกหนึ่งโมเดลที่น่าจับตามอง และร่วมศึกษาไปพร้อมกันว่านวัตกรรมใหม่ๆเหล่านี้ จะสามารถตอบโจทย์ชีวิตคนไทยในยุค 2030 ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และขับเคลื่อนประเทศในอนาคตได้อย่างไร