วันปีใหม่ตายอีก 1 “โลมาอิรวดี”น้ำจืดที่พบในทะเลสาบสงขลาแห่งเดียว ใกล้สูญพันธุ์ ทั้งติดอวนและได้รับผลกระทบจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลหลวงเร่งจัดโซนนิ่ง “สัตว์ก็อยู่ได้ มนุษย์ก็อยู่ได้” พึ่งพาอาศัยกัน พร้อมวิจัยขยายพันธุ์
นายสุเทพ เจือละออง ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่าง (สงขลา) เผยว่า โลมาอิรวดีในน้ำจืด มีเพียง 5 แห่งในโลก ได้แก่ ประเทศอินเดีย พม่า ไทย อินโดนีเซีย และแม่น้ำโขงระหว่างกัมพูชา-ลาว โดยประเทศอินเดีย ซึ่งการตั้งชื่อ “อิรวดี” เพราะถูกค้นพบครั้งแรกที่แม่น้ำอิรวดีในประเทศพม่า ปัจจัยอันดับแรกของการตาย คือ การติดอวนโดยบังเอิญ เนื่องจากอยู่ใกล้แหล่งที่ทำการประมงมาก ส่วนปัญหาอื่น ๆ คือ การเปลี่ยนแปลงรอบทะเลสาบสงขลา
“ผมเชื่อว่าชาวบ้านไม่ได้ตั้งใจที่จะฆ่า เพราะไม่ได้เอามากิน แต่เป็นเพราะความบังเอิญที่มันติดกับห่วงของที่ทำประมงหาปลาบึก และปลากะพง”
โดยมีมาตรการคือ 1.ทำพื้นที่เฉพาะจุด โซนนิ่งให้โลมาอิรวดีอยู่อาศัย บริเวณเขตทะเลสาบสงขลาตอนกลาง โดยที่ไม่มีใครเข้าไปรบกวน และแบ่งพื้นที่แก่ชาวบ้านเพื่อทำมาหากินได้ หลักการก็คือว่า “สัตว์ก็อยู่ได้ มนุษย์ก็อยู่ได้” ต้องพึ่งพากันทั้งสัตว์และมนุษย์ 2.เพิ่มความเข้มข้นในการดูแลเขตห้ามล่ามากขึ้น และ 3. มีการวิจัยเกี่ยวกับโลมาที่รองรับมากยิ่งขึ้น ต้องมีความร่วมมือจากบุคคลทุกภาคทุกส่วน และเพิ่มการดูแลการรักษามากยิ่งขึ้น
นายธนิตย์ หนูยิ้ม ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 6 (สงขลา) กล่าวว่า โลมาอิรวดี (Orcaella brevirostris) จัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองจำพวกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม โดยประเทศไทยพบเฉพาะในทะเลสาบสงขลาตอนบน (ทะเลหลวง) เป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลหลวงเพียงแห่งเดียว ปัจจุบันเหลืออยู่ประมาณ 20-30 ตัว ถือเป็นสัตว์ที่หายากใกล้สูญพันธุ์
“การอนุรักษ์สัตว์เป็นสิ่งที่มีประโยชน์หลายอย่าง โดยเฉพาะสัตว์โลกที่ใกล้จะสูญพันธุ์ อยากให้ช่วยกันอนุรักษ์ และดูแลรักษาสิ่งที่บรรพบุรุษเรามอบให้ เพื่อที่สามารถให้ลูกหลานได้ชื่นชมกันต่อไป” นายธนิตย์ กล่าว
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: