ผู้สื่อข่าวรายงานจาก อ.เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี จากการลงพื้นที่ตรวจสอบพื้นที่ป่าของเกาะพะงัน ซึ่งเตรียมประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติธารเสด็จ-เกาะพะงัน ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา พบว่าพื้นที่ป่าเกาะพะงัน นอกจากจะมีความสมบูรณ์ของพันธุ์ไม้ต่างๆ แล้ว ในส่วนของสัตว์ป่าก็ยังมีพบเห็นหลากหลาย โดยเฉพาะนกขุนทอง สัตว์ป่าคุ้มครองลำดับที่ 230 ตามบัญชีแนบท้ายกฎกระทรวงกำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง พ.ศ.2546 ซึ่งสามารถขออนุญาตเพาะพันธุ์ได้ตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535
ทั้งนี้ จากการลงพื้นที่สอบถามข้อมูลจากชาวบ้าน รวมทั้งเจ้าหน้าที่อุทยานฯ พบว่าป่าเกาะพะงัน มีนกขุนทองป่าฝูงใหญ่มากกว่า 100-200 ตัว ซึ่งคาดว่าเป็นฝูงใหญ่สุดของประเทศไทย กำลังอยู่ในสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงว่าอาจจะสูญพันธุ์ไปจากเกาะพะงันในอนาคต เนื่องจากนกขุนทองเกาะพะงัน เป็นนกประจำถิ่นที่แตกต่างจากนกขุนทองทั่วไปชัดเจน และกำลังกลายเป็นนกที่ได้รับความนิยมในกลุ่มผู้เลี้ยง ความพิเศษของนกขุนทองเกาะพะงัน จะมีรูปร่างใหญ่ แข็งแรง และสามารถพูดเลียนเสียงคนเลี้ยงได้รวดเร็วกว่านกขุนทองทั่วไป ทำให้มีการลักลอบล่า และค้านกขุนทองเกาะพะงันในตลาดค้านกทั่วประเทศ ราคาซื้อขายจะอยู่ที่ตัวละ 5,000 – 6,000 บาท ซึ่งถือว่าราคาสูง โดยปัจจุบันมีการประกาศขายกันผ่านโลกโซเชียล ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่บางคน ลักลอบจับนกขุนทองบนเกาะพะงัน ส่งออกไปขายพื้นที่อื่นอย่างต่อเนื่อง
สำหรับวงจรชีวิตของนกขุนทอง มักจะอาศัยอยู่กันเป็นฝูงใหญ่ พอถึงฤดูผสมพันธุ์ช่วงเดือน ม.ค. – พ.ค. นกจะเริ่มจับคู่ผสมพันธุ์ และหารังวางไข่ โดยจะเลือกต้นไม้ที่มีโพรง เพราะเหตุนี้กลุ่มคนที่ล่านก จะใช้วิธีนำเอาขอนไม้ หรือรังเทียม ขึ้นไปติดตั้งไว้บนยอดไม้ จุดที่นกมาอาศัยเป็นประจำ เพื่อให้นกเข้ามาออกไข่ และฟักไข่ในรัง โดยนกแต่ละตัวจะออกไข่ประมาณ 1-3 ฟองต่อครั้ง กระทั่งลูกนกฟักออกจากไข่ ก็จะขึ้นไปเก็บตัวอ่อนออกส่งขายตามคำสั่งซื้อ ที่ผ่านมาการตรวจจับทำได้ค่อนข้างยาก ซึ่งในปัจจุบันพบว่ามีการทำรังเทียมลักษณะนี้ค่อนข้างมาก
ทั้งนี้ ทางอุทยานฯ จะเข้าดำเนินการเก็บรังเทียมเหล่านี้ออกมาทั้งหมด และจะนำเอาลูกนกมาเลี้ยงอนุบาล ก่อนปล่อยคืนป่า รวมทั้งจัดทำป้ายรณรงค์ห้ามจับ และค้านกขุนทอง โดยจะนำ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 มาบังคับใช้อย่างเข้มงวด หากมีผู้ฝ่าฝืน จะมีโทษจำคุก 4 ปี ปรับ 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ.
ข่าวน่าสนใจ:
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: