X

บุรีรัมย์ จัดงาน พลิกโฉมโรงเรียนสร้างต้นแบบนวัตกรรมครูสู่นวัตกรรมนักเรียน แบบ Active Learning (มีคลิป)

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ จัดการประชุมวิชาการ “พลิกโฉมโรงเรียนสร้างต้นแบบนวัตกรรมครูสู่นวัตกรรมนักเรียน แบบ Active Learning ด้วยกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps” ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง

เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2566 ที่ โรงแรมอัลวาเรซ จังหวัดบุรีรัมย์ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ จัดการประชุมวิชาการ “พลิกโฉมโรงเรียนสร้างต้นแบบนวัตกรรมครูสู่นวัตกรรมนักเรียน แบบ Active Learning ด้วยกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps” ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง โดยมี โรงเรียนในพื้นที่จังหวัดภาคอีสานตอนล่างจำนวน 9 จังหวัดเข้าร่วม และนำเสนอผลงานนวัตกรรมรวมมากกว่า 200 รายการ

นายศุภสิน ภูศรีโสม ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สพฐ. กล่าวว่า ตนมองว่าการสอนด้วยกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps เป็นนวัตกรรมที่ส่งผลต่อนักเรียนได้มาก เนื่องจากเป็นการสอนแบบActive Learning ที่ฝึกกระบวนการคิดของเด็กทำให้เด็กกล้าคิดกล้าแสดงออก ทำให้เกิดการคิดและการต่อยอดซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนานวัตกรรมทั้งของครูและของนักเรียน ทำให้นักเรียนในอนาคตมีทักษะกระบวนการคิดชั้นสูงได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งในอนาคต สพฐ.คงต้องขยายผลการเรียนการสอนรูปแบบนี้ให้มากขึ้น หรืออาจจะนำหลักการสอนแบบนี้ไปลงในแพลตฟอร์มของ สพฐ. หรือ ส่งเสริมให้ศึกษานิเทศประจำเขตพื้นที่การศึกษาไปขยายผลให้ครูได้นำไปใช้ต่อไป เชื่อมั่นว่าการเรียนนการสอนแบบนี้จะได้รับความนิยมมากขึ้น

“การจัดการศึกษาของ สพฐ.ต้องอิงตามนโยบายของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ‘เรียนดี มีความสุข’ ซึ่งกระบวนการเรียนรู้ด้วยกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เด็กเรียนรู้ได้อย่างมีความสุข และส่งผลต่อการลดภาระนักเรียน ลดภาระครู ลดภาระผู้ปกครอง ตามนโยบายได้อย่างแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การลดภาระของครูและของนักเรียนจะทำให้ครูมีเวลาในการสอนให้เด็กเกิดกระบวนการคิดได้มากขึ้น ทำให้ประเทศไทยมีทรัพยากรมนุษย์ที่เป็นคนคิดและมีเหตุผลมากขึ้น”นายศุภสินกล่าวและว่า ที่ผ่านมาสำนักพัฒนานวัตกรรมฯ ร่วมกับสถาบันอุดมศึกษาหลายแห่งสามารถสร้างนวัตกรรมครูในหลายโรงเรียน จนสามารถเป็นต้นแบบที่จะนำไปเผยแพร่ทั่วประเทศได้ ซึ่งถือเป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่ง เพราะการฝึกกระบวนการคิดเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากคนคิดเป็นถึงจะทำเป็น คนคิดได้คิดเป็นถึงจะคิดถูก ถ้าคิดไม่เป็นคิดไม่ได้ก็คิดไม่ถูก เมื่อคิดไม่ได้คิดไม่ถูกก็ทำไม่เป็น ก็แก้ปัญหาไม่เป็น เพราะฉะนั้นการคิดเชิงเหตุผลจะนำไปสู่การต่อยอดเชิงเหตุผล เชิงระบบได้อย่างแน่นอน

ดร.กฤษ ละมูลมอญ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาบุรีรัมย์ พร้อมคณะผู้บริหาร ครู นักเรียน ได้ร่วมเป็นเกียรติการประชุมวิชาการ ซึ่งครั้งนี้โรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาบุรีรัมย์ ได้รับการพัฒนาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง รวม 9 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ยโสธร ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ มหาสารคาม ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ มีโรงเรียนต้นแบบในพื้นที่เข้าร่วมจำนวน 59 โรงเรียน และมีการนำเสนอผลงานนวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ของครู และนวัตกรรมนักเรียนมากกว่า 261 รายการ เพื่อเป็นการสรุปความรู้ที่ได้จากประสบการณ์การปฏิบัติจริง และนำเสนอความสำเร็จต่อสาธารณชน เป็นโครงการต่อเนื่องในการพัฒนาโรงเรียนต้นแบบตามโครงการพัฒนานวัตกรรมเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้วยรูปแบบ Active Learning สำหรับครูและบุคลากรทางการศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน