X

บุรีรัมย์ ชาวบุรีรัมย์ร่วม 2 หมื่นคน พร้อมใจกันสวมใส่เสื้อเหลือง เข้าร่วมกิจกรรมโครงการ เดิน วิ่ง ปั่น ป้องกันอัมพาต

ชาวบุรีรัมย์ เกือบ 2 หมื่นคน พร้อมใจกันสวมใส่เสื้อเหลือง เข้าร่วมกิจกรรมโครงการ เดิน วิ่ง ปั่น ป้องกันอัมพาต ครั้งที่ 10 เฉลิมพระเกียรติ ภายในสนามช้างอินเตอร์เนชันแนลเซอร์กิต วันนี้ (2 พ.ย. 67) ที่ สนามช้างอินเตอร์เนชันแนลเซอร์กิต จังหวัดบุรีรัมย์

นายนฤชา โฆษาศิวิไลซ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นประธานจัดกิจกรรม แสงนำใจ ไทยทั้งชาติ เดิน วิ่ง ป้องกันอัมพาต ครั้งที่ 10 เฉลิมพระเกียรติ เพื่อแสดงถึงความจงรักภักดี เฉลิมพระเกียรติฯพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ที่ทรงเป็นดั่งแสงนำใจของประชาชนชาวไทย และทรงเป็นแบบอย่างแก่ประชาชนชาวไทยในการรักษาสุขภาพและการออกกำลังกาย ตลอดจนรณรงเชิญชวนคนไทยทั้งประเทศให้มาออกกำลังกาย ภายใต้หัวข้อ “คนไทยสมองดี(HEALTHY THAIS, HEALTHY BRAINS) ”

ซึ่งการป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง จะช่วยลดค่าใช้จ่ายการรักษาและลดภาระของปัญหาโรคเรื้อรัง โดยให้ประชาชนทั่วไป ทุกเพศ ทุกวัย และทุกหมู่เหล่า มีโอกาสออกกาลังกายอย่างง่าย ๆ เช่น การเดิน วิ่ง หรือปั่นจักรยาน ซึ่งถ้าทำเป็นประจำจะทำให้มีสุขภาพดีห่างไกลโรค และมุ่งไปสู่เป้าหมายเดียวกันคือ “คนรุ่นใหม่ ขับเคลื่อนไทยไร้สโตรค”และในปีนี้ มี หัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการเจ้าหน้าที่ผู้นำชุมชน ประชาชนทั่วไป เด็กและ ผู้สูงอายุ เกือบ 20,000 คน พร้อมใจกันสวมใส่เสื้อสีเหลือง เข้าร่วมกิจกรรมภายในสนามช้างอินเตอร์เนชันแนลเซอร์กิต เป็นสนามแข่งรถมาตรฐานสมาพันธ์รถยนต์นานาชาติ (FIA) ในประเทศไทย และ ไฮไลท์ ที่สุดของการวิ่ง คือ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะได้รับเหรียญกษาปณ์ที่ระลึก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 72 พรรษา ด้วย

นายแพทย์พิเชษฐ พืดขุนทด นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์ เปิดเผยว่า โครงการ เดิน วิ่ง ปั่น ป้องกันอัมพาต เฉลิมพระเกียรติ เป็นความร่วมมือระหว่าง ศูนย์โรคหลอดเลือดสมองศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และหน่วยงานภาครัฐ 5 กระทรวง คือ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ตลอดจนพันธมิตรและภาคีเครือข่ายภาคเอกชน มอบหมายให้แต่ละจังหวัดมีการจัดงานเป็นประจำทุกปี

สำหรับโรคหลอดเลือดสมองนั้นเป็นหนึ่งในกลุ่มโรค NCDs หรือกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ซึ่งเกิดจากพฤติกรรมและการดำเนินชีวิต จนทำให้เกิดการสะสมของอาการและโรคตามมา และเมื่อเป็นก็จะมีอาการเรื้อรังรักษาให้หายได้ยาก โดย NCDs นั้นจัดว่าเป็นปัญหาสุขภาพอันดับหนึ่งของโลกทั้งในมิติของจำนวนการเสียชีวิตและภาระโรคโดยรวม และผู้ที่เป็นโรค NCDs นั้นมักจะเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดกว่าร้อยละ 44 เลยทีเดียว ซึ่งในแต่ละปีพบผู้เสียชีวิตจากโรค NCDs ในกลุ่มอายุ 30-69 ปี หรือเรียกว่า “การเสียชีวิตก่อนวัยอันควร” มากถึง 15 ล้านคน โดยมีคนไทยป่วยด้วยโรค NCDs ถึง 14 ล้านคน เสียชีวิตกว่า 300,000 คนต่อปี และคาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในทุกๆ ปี ซึ่งส่วนใหญ่เสียชีวิตก่อนอายุ 60 ปี และผู้ที่ป่วยเป็นโรค NCDs จะเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองมากที่สุด ราวร้อยละ 11

สำหรับประเทศไทย ในแต่ละปีจะมีผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตเป็นอันดับ 2 รองจากโรคมะเร็ง

จากข้อมูล Health Data Center ของกระทรวงสาธารณสุข ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 (1 ตุลาคม 2566 – 1 สิงหาคม 2567) พบว่า คนไทยป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมอง 355,213 ราย เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ที่มีผู้ป่วย 350,934 ราย และจำนวนผู้เสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดสมองในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 มีจำนวน 47,275 ราย เพิ่มขึ้นมากสุดในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา (ปี 2563 – 2566)

สำหรับในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 (1 ตุลาคม 2566 – 1 สิงหาคม 2567) พบผู้เสียชีวิตแล้ว 35,116 ราย (เฉลี่ยวันละ 100 คน ) ซึ่งในกลุ่มอายุ 18 – 39 ปี มีจำนวนผู้ป่วยขยายตัวเพิ่มขึ้นมากที่สุด

“การป้องกันภาวะหลอดเลือดออกในสมอง สำคัญที่สุด ผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตสูง ควรตรวจรักษาและควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในระดับที่ควบคุมได้ดีตลอด เพื่อลดโอกาสของการเกิดภาวะเลือดออกในสมอง และเมื่อมีอาการที่สงสัยโรคหลอดเลือดสมอง เช่น พูดลำบาก ปากตก แขนขาอ่อนแรง เดินเซที่เกิดขึ้นทันทีทันใด ให้ไป ไปโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด เพราะรู้อาการ ไปโรงพยาบาลเร็ว โอกาสรอดและปลอดอัมพาตก็จะสูงขึ้น”

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน