เทศบาลเมืองร้อยเอ็ด เปิดสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา
(วันที่ 31 มกราคม 2567) ภายในเกาะกลางบึงพลาญชัย จ.ร้อยเอ็ด นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายธวัชชัย ฟักอังกูร ประธานกรรมการบริหารแผนคณะที่ 3 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นายสมพร ใช้บางยาง ประธานเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ และคณะ ได้เดินทางมาเปิดสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา หลังมีการก่อสร้างแล้วเสร็จ โดยมีนายทรงพล ใจกริ่ม ผวจ.ร้อยเอ็ด นายชูศักดิ์ รสชบุรี นายชัยวัฒน์ ชัยเวชพิสิฐ รอง ผวจ. นายบรรจง โฆษิตจิรนันท์ นายกเทศมนตรีเมืองร้อยเอ็ด คณะผู้บริหารเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด สมาชิกสภาฯ หัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ พนักงานร่วมให้การต้อนรับและร่วมเปิดสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา
ข่าวน่าสนใจ:
- วิกฤตพะยูนตรัง 7 วันสำรวจ พบแค่ตัวเดียว ทดลองวางแปลงอาหาร กลับถูกเมินไม่ยอมกิน
- พิธีมอบกรรมสิทธิ์และไถ่ชีวิตโค-กระบือ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
- ชมคลิป-เตรียมเที่ยวงาน 10 ชาติพันธุ์ ยิ่งใหญ่กว่าเดิมในรูปแบบใหม่ ชมขบวนแห่กลุ่มชาติพันธุ์อลังการ
- ขอนแก่นจัดงานแถลงข่าว เทศกาลสุดออนซอนแห่งปี! “PlaraMorlum” Isan to the World ระหว่างวันที่ 26-29 ธันวาคม 2567 ณ ขอนแก่น อินโนเวชั่น เซ็นเตอร์
นายบรรจง โฆษิตจิรนันท์ นายกเทศมนตรีเมืองร้อยเอ็ด เปิดเผยว่า บึงพลาญชัยตั้งอยู่บริเวณใจกลางเมืองร้อยเอ็ด ถือเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดร้อยเอ็ด มีลักษณะเป็นเกาะกลางน้ำขนาดใหญ่ มีเนื้อที่ 124 ไร่ เกิดจากพระยาสุนทรเทพกิจจารักษ์ (ทอง จันทรางศุ) ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด(คนที่ 3) นำชาวบ้านประมาณ 40,000 คน ขุดขึ้นมาเมื่อปี พ.ศ. 2469 เพื่อใช้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ต่อมาเทศบาลเมืองร้อยเอ็ดได้มีการพัฒนาปรับปรุงตกแต่งเป็นสวนไม้ดอก ไม้ประดับขนาดใหญ่ มีพันธุ์ไม้ชนิดต่างๆร่มรื่นสวยงาม นอกจากนั้นยังใช้เป็นสถานที่จัดงานประเพณี และงานสำคัญต่างๆของจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นสถานที่ออกกำลังกายของประชาชน อันเป็นการเสริมสร้างสุขภาพพลานามัยแก่ประชาชนชาวร้อยเอ็ด และบุคคลทั่วไป
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า สนามเด็กเล่นสร้างปัญญา ในบึงพลาญชัยร้อยเอ็ด ก่อสร้างบนพื้นที่ 1 ไร่ 3 งาน เกิดจากความร่วมมือร่วมใจจากหลายภาคส่วน เพื่อเพิ่มพื้นที่ส่งเสริมให้เด็ก ได้เคลื่อนไหว มีกิจกรรมทางกาย ออกกำลังกาย เล่นสนุกตามธรรมชาติที่เหมาะสมกับช่วงวัย ประกอบด้วย ฐานสระน้ำ ฐานค่ายกล และฐานเรือสลัดลิง ออกแบบโดยนายดิสสกร กุนธร ประธานมูลนิธิสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา งบประมาณก่อสร้างทั้งสิ้น จำนวนเงิน 2.5 ล้านบาท จากมูลนิธิสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา จำนวนเงิน 2 ล้านบาท จากกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โครงการสร้างเสริมสุขภาวะชุมชนเพื่อเมืองร้อยเอ็ดน่าอยู่สู่ความยั่งยืน จำนวนเงิน 5 แสนบาท
ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “สิ่งที่ผมอยากจะขอถือโอกาสนี้เสริมต่อก็คือ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในเบื้องต้น ให้เป็นต้นไม้ที่มีรากแก้วที่แข็งแรง เพราะช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อทำให้เขาเป็นคนดีนั้นอยู่ที่ช่วงต้นของชีวิตทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของการพัฒนาสติปัญญา ความเฉลียวฉลาดให้กับเด็ก ให้เป็นคนดี คนเก่ง และอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข การส่งเสริมการเรียนรู้ให้เด็กได้เรียนรู้ในพื้นที่ที่มีต้นไม้ ดิน เนินเขา น้ำ อยู่กับธรรมชาติ จะทำให้เด็กเรียนรู้ด้วยตัวเขาเองว่า เขาจะต้องทำอะไรกับมัน ทำให้เด็กมีจินตนาการ มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ แก้ปัญหาด้วยตนเอง นอกจากนี้ยังเป็นการพัฒนากล้ามเนื้อ ความสุขทางอารมณ์ ทำให้อารมณ์ดี รู้จักเรื่องการเข้าแถว เข้าคิว รู้ระเบียบวินัย รู้เรื่องของการ Sharing แบ่งปัน แบ่งกันเล่น เล่นด้วยกัน ไม่มีการทะเลาะกัน ซึ่งเด็กจะซึมซับ และเติบโตเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศชาติในอนาคต
“ผมอยากให้ทุกตำบล ทุกหมู่บ้าน ทุกอำเภอ ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแล ของผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ นายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนันผู้ใหญ่บ้าน โดยการสนับสนุนของภาคีเครือข่ายแม่บ้านมหาดไทยในพื้นที่ต่างๆ ได้ช่วย กันเอาต้นแบบดีๆของสนามเด็กเล่นสร้างปัญญานี้ ไปสู่พื้นที่อื่นๆด้วย เพื่อที่เราจะได้พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ อย่างทั่วถึงคือไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพราะว่ามีตัวอย่างเด็กในเขตเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด ผมมั่นใจว่าทุกท่านที่มาร่วมงานอยู่ที่นี่ คงชื่นใจกับทางเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด ที่ท่านบรรจง โฆษิตจิรนันท์ นายกเทศมนตรีเมืองร้อยเอ็ด ดูแลพี่น้องประชาชนได้เป็นอย่างดี และได้เปิดโอกาสให้ลูกๆหลานๆของพี่น้องประชาชนในเขตเทศบาลฯ ได้มีโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเองทั้งเรื่องการศึกษา ที่เทศบาลเมืองร้อยเอ็ดได้มีการส่งเสริมจนเป็นที่เชิดหน้าชูตา มีชื่อเสียง มีโรงเรียนสอนหลายภาษา โรงเรียนกีฬา ส่งเสริมคนที่รักด้านกีฬาโดยเฉพาะ ได้ มีโอกาสศึกษาเล่าเรียน ด้านความเป็นเลิศทางกีฬาชนิดต่างๆ และ สนามเด็กเล่นสร้างปัญญาที่เราเห็นวันนี้ อยากให้มีแพร่หลายมากๆ เพราะจะส่งผลต่อไอคิวของเด็ก เด็กได้ฝึกคิด ฝึกแก้ปัญหา ได้สัมผัส มีประสบการณ์ส่งผลดีต่อการพัฒนาคนต่อไป
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: