X

อบต.พรมสวรรค์ สร้างฝายมีชีวิต แก้วิกฤตภัยแล้ง

อบต.พรมสวรรค์ รวมพลังสร้างฝายมีชีวิต แก้วิกฤตภัยแล้ง

อำเภอโพนทอง อบต.พรมสวรรค์ ร่วมกับ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน กำลังทหารจากมณฑลทหารบกที่ 27 และประชาชนจิตอาสา ร่วมกันสร้างฝายมีชีวิต ในลำห้วยใหญ่ บ้านนาสีใส หมู่ 3 เพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ และการจัดการน้ำอย่างยั่งยืน หลังเกิดการขาดแคลนน้ำ จากภาวะฝนทิ้งช่วง

นายวัลลภ จินดาเงิน นายอำเภอโพนทอง กล่าวว่า การสร้างฝายมีชีวิต ถือเป็นการพัฒนาแหล่งน้ำอีกรูปแบบ ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำ เป็นการกักเก็บน้ำไว้เพื่ออุปโภค- บริโภค และการเกษตรในระยะยาว พร้อมผลักดันให้แต่ละตำบล ที่มีลำน้ำ ลำห้วย เร่งสร้างฝายมีชีวิต ให้ได้ตำบลละ1แห่งเป็นอย่างน้อยในช่วงหน้าฝนนี้ เพื่อให้ฝายที่สร้างขึ้นสามารถเก็บกักน้ำไว้ใช้ระยะยาวหลังฤดูฝน

 

 

นายสนอง สัตนาโค นายก อบต.พรมสวรรค์ บอกว่า จากปัญหาภัยแล้ง ทำให้น้ำเพื่อการอุปโภค- บริโภค และทำการเกษตรขาดแคลน ช่วงที่ผ่านมา อบต.เราจึงมีนโยบายที่จะส่งเสริมให้สร้างฝายมีชีวิตขึ้นหลายจุด เพื่อให้พี่น้องประชาชนในตำบลพรมสวรรค์ และตำบลใกล้เคียง ได้มีน้ำไว้ใช้อย่างเพียงพอในช่วงหน้าแล้ง ซึ่งการสร้างฝายครั้งนี้เราได้รับความร่วมมือ และได้รับการสนับสนุนด้านต่างๆ จากผู้ใหญ่ใจดี ทั้งสมาชิกสภาฯ ข้าราชการ พนักงาน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน พ่อค้า และประชาชนจิตอาสา อีกทั้งเรามีทีมงานที่มีความเชี่ยวชาญ เรื่องการสร้างฝายมีชีวิตเป็นอย่างดี

พ.อ.ท.ดร.ธาวิน ธาระมนต์ นักทรัพยากรชำนาญการ อบต.พรมสวรรค์ เลขานุการคณะทำงานลุ่มน้ำยัง เปิดเผยว่า ฝายมีชีวิต เป็นฝายทดน้ำที่เกิดมาจากภูมิปัญญาท้องถิ่นตั้งแต่สมัยโบราณ เกิดจากการร่วมแรงร่วมใจ และความสามัคคีของคนในท้องถิ่น อาศัยวัสดุจากท้องถิ่น เช่นไม้ไผ่ ดิน เชือก และกระสอบ

ปัจจุบันการก่อสร้างฝายทดน้ำส่วนใหญ่นิยมใช้คอนกรีต ซึ่งต้องใช้งบประมาณค่อนข้างมาก มีข้อเสียคือ ชาวบ้านไม่มีส่วนร่วมในการทำ การออกแบบเป็นแนวดิ่ง ปลาและสัตว์ต่างๆไม่สามารถว่ายทวนกระแสน้ำข้ามไปขยายเผ่าพันธุ์ในพื้นที่สูงตามธรรมชาติได้

ขณะที่ฝายมีชีวิต เป็นลักษณะมีบันใดขึ้นและลงขวางทางน้ำในลักษณะขั้นบันได ทำให้ปลาและสิ่งมีชีวิตต่างๆ สามารถว่ายทวนน้ำขึ้นไปเพื่อผสมพันธ์ได้ตลอดเวลา ประการสำคัญคือฝายลักษณะนี้ ชาวบ้านจะเกิดความรักและหวงแหนมากขึ้น เพราะมีส่วนลงมือสร้างด้วยกัน ฝายมีชีวิตจึงเป็นโครงการที่มีคุณค่ามากกว่าการทด หรือชลอน้ำ ใว้ใช้ในฤดูแล้ง ยังคงคุณค่าด้านการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นการหลอมรวมพลังความสามัคคีของคนในชุมชน เพื่อประโยชน์ของชุมชนต่อไป

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน