ตำบลท่าม่วงไม่ห่วงแล้ง โชว์ศักยภาพการบริหารจัดการน้ำครบวงจร
ท่ามกลางสถานการณ์ภัยแล้ง จากภาวะฝนทิ้งช่วง ที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของประเทศไทย เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำ เพื่อการอุปโภค- บริโภค และทำการเกษตร ทำให้ทั้งรัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต่างหามาตรการป้องกัน และแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน
แม้หลายพื้นที่ กำลังประสบปัญหาจากการขาดแคลนน้ำ แต่ที่นี่…เทศบาลตำบลท่าม่วง อ.เสลภูมิ จ.ร้อบเอ็ด กลับแตกต่างจากที่อื่น จนอาจเรียกได้ว่าเป็น อปท.ต้นแบบ ของการบริหารจัดการน้ำ ด้วยระบบกระจายน้ำ ตามโครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำ พร้อมระบบกระจายน้ำธนาคารน้ำใต้ดินเพื่อการเกษตร ด้วยศาสตร์พระราชา เป็นรูปแบบการพัฒนาท้องถิ่น ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ทำให้ชุมชนเกิดความอยู่ดี กินดี มีความสุข สามารถพึ่งตนเองได้ มีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน
นายเจริญ สุทธิประภา นายกเทศมนตรีตำบลท่าม่วง เปิดเผยว่า เทศบาลตำบลท่าม่วง เป็นเทศบาลขนาดกลาง มีพื้นที่ 36.43 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 22,896ไร่ พื้นที่ทำการ เกษตร ประมาณ 4,000 ไร่ จำนวน 11 หมู่บ้าน ประชากร 4,944 คน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำไร่ ทำนา และเลี้ยงสัตว์ พืชเศรษฐกิจที่ปลูกมากคือ “ข้าว”
ส่วนหนึ่งตำบลท่าม่วง มีความโชคดีอยู่บ้าง เพราะแม่น้ำชีไหลผ่าน ชาวนาสามารถทำนาได้ปีละ 2 ครั้ง โดยอาศัยน้ำ จากสถานีสูบน้ำด้วยพลังงานไฟฟ้าจำนวน 3 แห่ง ทำให้ชุมชนที่อยู่ใกล้แม่น้ำชี มีความอุดมสมบูรณ์และไม่มีปัญหาอะไรมากนัก แต่ชุมชนหรือพื้นที่ซึ่งเป็นที่ดอนและอยู่ไกลออกไป กลับประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ เพราะระบบชลประทานยังไปไม่ถึง
เทศบาลตำบลท่าม่วง ได้ดำเนินโครงการการบริหารจัดการน้ำจากแหล่งน้ำต้นทุน (แม่น้ำชี) หนองน้ำต่างๆในพื้นที่ โดยการศึกษาวิเคราะห์ จุดอ่อน จุดแข็ง นำมาสู่การดำเนินการ บริหารจัดการน้ำดังนี้
1.ทำฝายหินทิ้งแม่น้ำชี (กักเก็บน้ำชีไว้ใช้ในหน้าแล้ง)
2.ธนาคารน้ำใต้ดิน (การนำน้ำไปเก็บที่ชั้นใต้ดินในชั้นหินอุ้มน้ำ)ซึ่งหน้าฝนมีน้ำมาก ธนาคารน้ำใต้ดินจะช่วยดูดซับน้ำ เพื่อไปกักเก็บไว้ ช่วงหน้าแล้งก็สามารถนำน้ำมาใช้ได้
3. โครงการกระจายน้ำระบบชลประทาน สถานีสูบน้ำท่าม่วง 3
4.โครงการกระจายน้ำเป็นโครงการต่อยอดจากโครงการธนาคารน้ำใต้ดิน เพื่อกระจายน้ำบนดินไปสู่ประชาชน
มีการบูรณาการ เป็นธนาคารน้ำใต้ดินกระจายอยู่ในพื้นที่ ประมาณ 20 แห่ง และขุดบ่อบาดาลเพื่อจะเก็บน้ำต้นทุนฝากไว้ใต้ดิน แต่ละบ่อมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 6 นิ้ว ลึก 40 – 45 เมตร จากนั้นก็ติดตั้งระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ สูบน้ำขึ้นมาพักไว้ในถังกักเก็บขนาดใหญ่ เพื่อกระจายให้แก่เกษตรกร ในรัศมีประมาณ 1 กม. ซึ่งมีการรวมกลุ่มกันกลุ่มละ 7-8 ครอบครัว
ขณะเดียวกันก็สูบน้ำด้วยระบบไฟฟ้า จากแม่น้ำชี ผ่านชลประทานระบบท่อ เกษตรกรสามารถเปิดน้ำใส่ที่นา เพื่อทำการเกษตรได้ตามต้องการ แบะกติกาที่ตกลงกันไว้ ขณะเดียวกันน้ำส่วนหนึ่งจะนำไปกักเก็บไว้ในห้วย หนอง ที่อยู่ในพื้นที่สูง แล้วปล่อยให้ไหลลงคลองตามแรงโน้มถ่วง ผ่านพื้นที่การเกษตร ประชาชนก็จะสามารถสูบน้ำเข้าไปยังไร่ นา ของตนเองได้
จากการดำเนินโครงการที่ผ่านมา ทำให้ตำบลท่าม่วง ซึ่งมีการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ เป็นแบบอย่างการแก้ปัญหาเรื่องน้ำทั้งในปัจจุบัน และอนาคต เกิดประโยชน์อย่างกว้างขวางต่อพี่น้องประชาชน คาดภายในปี 2563 ระบบการบริหารจัดการน้ำจะเสร็จสมบูรณ์ 100% ซึ่งหน้าน้ำ ถ้ามีน้ำมากเราก็สูบน้ำไปกักเก็บในบ่อน้ำใต้ดิน ถึงหน้าแล้งก็สูบน้ำใต้ดินกระจายไปให้กับพี่น้องประชาชน เพื่ออุปโภค-บรืโภค และทำการเกษตรลดปัญหาการขาดแคลนน้ำในหน้าแล้ง อีกทั้งเป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ซึ่งจะส่งผลให้ชาวตำบลท่าม่วง หลุดพ้นจากความแห้งแล้ง และความยากจน ได้ในที่สุด
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: