หนองบัวลำภู -วายุแรปเตอร์ หนองบัวลำภูเอนซิส ไดโนเสาร์กินเนื้อ ยืนยันเป็นการพบพันธุ์ใหม่ของโลก พบที่ภูวัด อุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูพานคำ อ.โนนสัง
วายุแรปเตอร์
วันที่ 12 พฤศจิกายน 2562 ที่สะพานเชื่อมฮัก @ ตาดไฮ อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำบอง (อันเนื่องมาจากพระราชดำริ) อ.โนนสัง จ.หนองบัวลำภู นายมนตรี เหลืองอิงคะสุต รองอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายสมเจตน์ จงศุภวิศาลกิจ ผวจ.หนองบัวลำภู และนายอดูลย์ สมาธิ นักวิจัยศูนย์วิจัยบรรพชีวิน ม.มหาสารคาม ร่วมกันแถลงข่าว การค้นพบไดโนเสาร์ตัวที่ 11 ของไทย มีชื่อว่า “วายุแรปเตอร์ หนองบัวลำภูเอนซิส” (Vayuraptor nongbualamphuensis) เป็นไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดกลาง สกุลและชนิดใหม่ของโลก พบที่หลุมขุดค้นภูวัด อุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูพานคำ อ.โนนสัง จ.หนองบัวลำภู โดยนายพลาเดช ศรีสุข เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวิน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เมื่อปี พ.ศ. 2531ตั้งชื่อตามเทพเจ้าฮินดู ‘วายุ’ [ภาษาสันสกฤต] หรือ ‘พระพาย’ สื่อว่าเจ้าไดโนเสาร์ตัวนี้มีความว่องไว ทั้งนี้จากลักษณะกระดูกหน้าแข้งที่ยาวเรียว
โดย วายุแรปเตอร์ หนองบัวลำภูเอนซิส เป็นไดโนเสาร์กินเนื้อที่มีความสัมพันธ์ุใกล้ชิดกับนกมากกว่า ไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดใหญ่อื่นๆ ชิ้นส่วนซากดึกดำบรรพ์ที่ถูกค้นพบประกอบด้วย กระดูกหน้าแข้งและข้อเท้า กระดูกคอราคอยด์ กระดูกซี่โครง กระดูกหัวหน่าว กระดูกฟิบูล่า นิ้วและกระดูกชิ้นอื่น ๆ ที่ไม่สมบูรณ์นัก มีขนาดลำตัวยาวประมาณ 4.0-4.5 เมตร ถูกจัดอยู่ในกลุ่ม basal Coelurosauria อายุประมาณ 130 ล้านปี ในยุคครีเทเชียส (Cretaceous) ซึ่งเป็นยุคที่รุ่งเรืองที่สุดของไดโนเสาร์
นายมนตรี เหลืองอิงคะสุต รองอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี กล่าวว่า จากรายงานการค้นพบซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์ของประเทศไทย วายุแรปเตอร์ หนองบัวลำภูเอนซิส นี้นับเป็นตัวที่ 11 และยังไม่มีการค้นพบแรปเตอร์นี้ในพื้นที่อื่น จึงถือได้ว่าเป็นการค้นพบอันทรงคุณค่าต่อประเทศไทย ทั้งนี้กรมทรัพยากรธรณี จะดำเนินการประกาศให้เป็นซากดึกดำบรรพ์ขึ้นทะเบียนตาม พระราชบัญญัติคุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ พ.ศ.2551 ต่อไป
ด้านนายอดูลย์ สมาธิ นักวิจัย ฯ กล่าวว่า วายุแรปเตอร์ หนองบัวเอนซิส ถือเป็นซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์สายพันธ์ใหม่ของโลก ค้นพบเมื่อ พ.ศ. 2531 ทั้งนี้เมื่อทำการศึกษา เทียบเคียง กับซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์จากหลายประเทศ ยังไม่มีการค้นพบชนิดและสายพันธ์นี้ จึงถือได้ว่า เป็นการค้นพบซากดึกดำบรรพ์ แรปเตอร์สายพันธ์ใหม่ ตัวแรกของโลก ที่จังหวัดหนองบัวลำภู จึงตั้งชื่อให้สอดคล้องกับแหล่งค้นพบแห่งนี้ด้วย
นายสมเจตน์ จงศุภวิศาลกิจ ผวจ.หนองบัวลำภู กล่าวว่า ในพื้นที่จังหวัดหนองบัวลำภู มีการค้นพบซากดึกดำบรรพ์ หลากหลายประเภท เช่น กระดูกไดโนเสาร์ ฟันปลาฉลามน้ำจืด เกล็ดปลา กระดองเต่า จระเข้ หอยน้ำจืด รอยเท้าไดโนเสาร์ และไม้กลายเป็นหิน ทางกรมทรัพยากรธรนี ได้พัฒนาแหล่งขุดค้นให้เป็นแหล่งเรียนรู้ และแหล่งท่องเที่ยว โดยจัดสร้างแหล่งพิพิธภัณฑ์และอาคารคลุมหลุมขุดค้นพบ 2 แห่ง ในบริเวณอุทยานแห่งชาติภูเก้า – ภูพานคำ ที่เป็นแหล่งพบซากดึกดำบรรพ์หลากหลายประเภท และได้มอบให้ทางอุทยานฯ เป็นผู้ดูแลใช้ประโยชน์
ข่าว-ภาพ // วสันต์ เกิดแก้ว
อ่านข่าวสารอื่นในจังหวัดหนองบัวลำภู
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: