หนองบัวลำภู – สมาพันธ์ครูประถมศึกษา แถลงการณ์คัดค้านไม่เห็นด้วยกับ พรบ.การศึกษา
สมาพันธ์ครูประถมศึกษา
เวลา 17.00 น.วันที่ 7 มีนาคม 2562 ที่ ห้องประชุมสหกรณ์ออมทรัพย์ครูหนองบัวลำภู นายฐานันดร แพงคำแหง ประธานสมาพันธ์สมาคมครูประถมศึกษาจังหวัดหนองบัวลำภู พร้อมคณะกรรมการสมาพันธ์สมาคมครูหนองบัวลำภู และผู้อำนวยการโรงเรียนในสังกัด ได้ร่วมกันประชุมและออกแถลงการณ์ ไม่เห็นด้วยกับร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ฉนับ….พ.ศ…..ตามที่คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา(กอปศ.) ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ฉบับที่ …พ.ศ. ….และในขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้เชิญชวนประชาชนทั่วไปและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ฉบับที่…พ.ศ. …ระหว่างวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2562 ถึง วันที่ 12 มีนาคม 2562 นั้น
สมาพันธ์สมาคมครูประถมศึกษา จังหวัดหนองบัวลำภูไม่เห็นด้วยกับสาระของร่างกฎหมายดังกล่าวและไม่เห็นด้วยกับกระบวนการพิจารณาการร่างกฎหมายฉบับนี้ จำนวน 6 ข้อคือ 1. กระบวนร่างพระราชบัญญัติการศึกษา ฉบับนี้ ตัวแทนครูและบุคลากรทางการศึกษาไม่มีส่วนร่วมในการยกร่าง 2. พระราชบัญญัติฉบับนี้ อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างบุคลากรทางการศึกษากับชุมชน เช่น มาตรา 13(12) วรรคสาม หน่วยงานของรัฐใดไม่ปฏิบัติตามมาตรการตาม(11) ให้ถือว่าหัวหน้าหน่วยงานดังกล่าวละเว้นหรือจงใจไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ และให้ถือว่าเป็นความผิดทางวินัยด้วย ทั้งนี้ ในการบริหารจัดการศึกษาให้มีคุณภาพได้มาตรฐานตามวัตถุประสงค์ของหลักสูตร โรงเรียนจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆอย่างต่อเนื่อง โรงเรียนเป็นผู้ให้และผู้รับ อีกทั้งโรงเรียนเป็นหน่วยงานของรัฐที่อยู่ในชุมชนจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากชุมชนในกิจกรรมต่างๆ 3. การยกเลิกใบประกอบวิชาชีพครู เป็นใบรับรองความเป็นครู มีศักดิ์และสิทธิ์เทียบเท่ากันอย่างไร เหตุใดจึงเปลี่ยนและจะส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาได้อย่างไร ในขณะที่อาชีพอื่นๆใช้คำว่าใบประกอบวิชาชีพ เช่น ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม(ก.ว.) ใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะ การยกเลิกใบประกอบวิชาชีพครูดังกล่าว อาจใช้เป็นเงื่อนไขในการลดวิทยฐานะของครูเพื่อให้ครูไม่เป็นวิชาชีพชั้นสูง ใช่หรือไม่ 4. การเปลี่ยนชื่อตำแหน่งจากผู้อำนวยการสถานศึกษาเป็นครูใหญ่ ตอบโจทย์การพัฒนาคุณภาพการศึกษาได้อย่างไร เพราะบทบาทหน้าที่ยังคงเหมือนเดิม ขณะที่ ผู้ช่วยครูใหญ่ ไม่จำเป็นต้องเป็นครูก็ได้ แต่สามารถที่จะพัฒนาเป็นครูใหญ่ได้ ทำให้การพัฒนาคุณภาพการศึกษาขาดความเป็นมืออาชีพ อีกทั้งเป็นการส่งผลกระทบต่อความรู้สึก บั่นทอนขวัญและกำลังใจของผู้ดำรงตำแหน่งทางวิชาชีพ 5. ตามมาตรา 38 ให้มีองค์กรของครู เรียกว่า “คุรุสภา” ต้องมีผู้แทนคณะกรรมการคุรุสภาที่มาจากครูโดยตรง และ 6. ตามหมวด 7 มาตรา 79 คณะกรรมการการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ ไม่ได้กำหนดให้มีกรรมการที่จากผู้แทนครูเป็นคณะกรรมการดังกล่าว ทำให้ขาดการมีส่วนร่วมของผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างแท้จริง
นอกจากนั้น ทางสมาพันธ์สมาคมครูประถมศึกษา จังหวัดหนองบัวลำภู ยังได้เสนอความคิดเห็นภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ในฐานะผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย คือ 1.ให้ยุติการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ฉบับที่.. พ.ศ. …. จนกว่าการดำเนินการ เลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร์จะเสร็จสิ้น ให้มีรัฐบาลและมีรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาคนใหม่ มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็น รับฟังเสียงจากครู ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้เกี่ยวข้องที่แท้จริง 2.ให้คงคำว่า ใบประกอบวิชาชีพ โดยมีหลักเกณฑ์เงื่อนไขตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ครู ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษา ศึกษานิเทศก์ ต้องมีใบประกอบวิชาชีพ 3.ให้คงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสถานศึกษาไว้ ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 เพราะครูใหญ่ไม่ตอบโจทย์ที่จะทำให้ผู้เรียนมีคุณภาพการศึกษาดีขึ้น เป็นการสร้างเงื่อนไขให้เสียกำลังใจ สร้างความแตกแยกในสังคม 4.ให้ยกเลิกตำแหน่ง ผู้ช่วยครูใหญ่ และให้เป็น รองผู้อำนวยการโรงเรียน คงเดิม และต้องมาจากวิชาชีพครูเท่านั้น เพราะการนำเอาอาชีพอื่นมาทำหน้าที่ จะก่อให้เกิดการไม่ยอมรับ ไม่มีจิตวิญญาณของความเป็นครูที่แท้จริง 5.ให้มีกรรมการที่มาจากผู้แทนครูในคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติในสัดส่วนที่เหมาะสม
นายฐานันดร ยังได้กล่าวอีกว่า สมาพันธ์สมาคมครูประถมศึกษา จังหวัดหนองบัวลำภู จะร่วมมือกับองค์กรวิชาชีพผู้อำนวยการสถานศึกษา องค์กรวิชาชีพครูและบุคลากรทางการศึกษา ทุกองค์กร ทุกจังหวัดทั่วประเทศที่เห็นด้วยกับแนวทางในข้อเสนอข้างต้น ในการคัดค้านเพื่อแสดงพลังในทุกรูปแบบให้ถึงที่สุด พร้อมกันนี้ ขอเชิญชวนผู้อำนวยการสถานศึกษา ครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกคนและบุคคลทั่วไปได้เข้าไปแสดงความคิดเห็นคัดค้าน และให้แก้ไขหรือยุติตามข้อเสนอข้างต้นของสมาพันธ์สมาคมครูประถมศึกษาจังหวัดหนองบัวลำภู ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 12 มีนาคม 2562 โดยคลิกที่ลิงค์ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
ทางด้าน นายสมบัติ จิตรเจริญ กรรมการสมาพันธ์ครูจังหวัดหนองบัวลำภู ยังได้สะท้อนถึงเรื่องนี้ว่า ที่ไม่เห็นด้วย พอปฏิรูปการศึกษาทีไร ข้าราชการครูถูกย่ำยีมาโดยตลอด ทุก พ.ศ.ทุกเรื่อง แต่องค์กรอาชีพอื่นไม่ไปปฏิรูปเขาเลย การต่อสู้องค์กรครูต้องเดินเอง เพื่อที่จะให้ได้มาซึ่งความเป็นธรรม กับวิชาชีพตลอดมา
นอกจากนี้ในวันเสาร์ที่ 9 มีนาคม 2562 นี้ ทาง สมาพันธ์ได้มีการส่งตัวแทนของจังหวัดหนองบัวลำภู จาก 6 อำเภอเดินทางไปร่วมกับเครือข่าย ครูประถมศึกษาภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่จังหวัดอุบลราชธานีในการที่จะแสดงพลังการคัดค้านพระราชการศึกษาฉบับนี้ด้วย
ข่าว-ภาพ // สุรศักดิ์ เครือคำ
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: