ทำกันค่อนหมู่บ้าน เพาะเห็ดฟางจากรากผักตบ ผลผลิตดีดอกเห็ดใหญ่ เป็นที่ต้องการของตลาด แถมยังมีปุ๋ยมาขายอีก ขณะที่เห็ดฟางกองเตี้ย ก็ยังทำในพื้นที่สลับสับเปลี่ยนกันอีกด้วย
ผู้สื่อข่าวได้ไปดูการทำเห็ดฟาง ที่บ้านพันดอน หมู่ 9 ต.บ้านพร้าว อ.เมืองหนองบัวลำภู ที่ใช้งบประมาณตามโครงการ 9101 ตามรอยพ่อ ใต้ร่มพระบารมี เพื่อการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน โดย นายสมเดช ศิริวงศ์ ผู้ใหญ่บ้านพร้อมลูกบ้านพากันเพาะเห็ดฟาง แบบที่เรียกกันว่ากองเตี้ย คือการเพาะบนดินใช้ฟางข้าวคลุมแปลง และหันมาใช้งบที่ได้สร้างโรงเรือน ทำเป็นระบบเพาะด้วยรากผักตบแทน
โดยผักตบที่เกิดขึ้นตามลำคลอง ตามหนองน้ำ รอบ ๆ หมู่บ้านก็จะถูกเก็บมาที่โรงเพาะริมถนนทางเข้าหมู่บ้าน มีผู้สูงวัยในหมู่บ้านมาช่วยกันตัดรากและสับใบผักตบชวา จากนั้นก็จะนำไปวางบนถาดเพาะในโรงเพาะที่มีเปลือกมันสำปะหลัง ปุ๋ยคอก รำอ่อน คลุกเคล้ากันวางอยู่บนถาด ขนาดกว้าง 4 เมตร ยาว 8 เมตร มี 3 ชั้น แต่ละโรงเพาะจะมีอยู่ 2 แถวซ้ายขวา มีเครื่องอบไอน้ำใช้ฟืนต้มน้ำส่งผ่านท่อปล่อยเข้าไปในโรงเพาะที่ปิดคลุมอย่างมิดชิดเป็นการอบฆ่าเชื้อ มีเทอร์โมมิเตอร์วัดอุณหภูมิ ปล่อยให้เย็นก็โรยเชื้อเห็ด รดน้ำให้เปียก ดูแลควบคุมอุณหภูมิประมาณ 7 วันก็เก็บเห็ดออกมาขายได้ เวลาเก็บเห็ดจะอยู่ที่ประมาณตี 3 ซึ่งการเพาะเห็ดจะเก็บเห็ดได้เดือนละ 2 ครั้ง ซึ่งกลุ่มของบ้านพันดอนมีโรงเพาะ 4 โรง เก็บขายได้คราวละประมาณ 1 ตัน มีพ่อค้ามารับซื้อในราคา 55 บาท สมาชิก 42 ราย ก็จะมีเงินปันผลให้รายละไม่น้อยกว่า หนึ่งหมื่นบาท
นายสมเดช ผู้ใหญ่บ้านพันดอน เปิดเผยว่า ชาวบ้านเกินครึ่งหมู่บ้านที่มาทำการเกษตรเพาะเห็ด เป็นรายได้เสริมอีกทาง ปัจจุบันก็จะเพาะเห็ดทั้งแบบกองเตี้ย และแบบโรงเพาะ ในช่วงหลังฤดูเก็บเกี่ยวก็จะลงแปลงเตี้ย พร้อมกับทำในโรงเพาะ ในฤดูเพาะปลูกก็จะเน้นที่โรงเพาะ ซึ่งนอกจากจะเก็บเห็ดขายแล้ว การเพาะแบบกองเตี้ยจะเป็นการปรับปรุงสภาพดิน เมื่อเก็บเห็ดหมดแล้ว จะไถกลบทำเป็นพื้นที่เพาะปลูก เพราะไม่สามารถไปเพาะเห็ดฟางซ้ำที่เดิมได้อีก มีปัญหาทั้งขนาดและโรคไม่คุ้มการลงทุน แต่สภาพดินก็เหมาะแก่การเพาะปลูกพืชชนิดอื่น ชาวบ้านก็จะหันมาปลูกอ้อย ซึ่งลำต้นจะอวบสูงใหญ่ให้ผลผลิตดี ไม่ต้องใส่ปุ๋ยหรือสารเคมี ขณะที่โรงเห็ดก็จะมีปุ๋ยจากกากของวัสดุในการเพาะ ที่เรียกกันว่าปุ๋ยโรงเห็ดมาใส่ถุงขายได้อีกด้วย
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: