X

วางระบบรับแรงงานเมียนมาเข้าไทยด้านชายแดนตาก

รับมือแรงงานเอ็มโอยูที่จะเข้ามา แต่ต้องป้องกันปัญหาลักลอบเข้าเมือง และควบคุมป้องกันโควิด-19 อย่างเป็นระบบ

เมื่อวันที่ 1 ธ.ค.64 ที่อาคารหอประชุมจังหวัดตาก ศาลากลางจังหวัดตาก  นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมเตรียมการนำเข้าแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงาน ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา2019 (โควิด-19) โดยมีโดยมี นายสมชัย กิจเจริญรุ่งโรจน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดตาก รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดตาก  นายอรเทพ อินทรสกุล รองอธิบดีกรมการจัดหางาน  พันตำรวจเอกไพฑูรย์ สุขุมวัฒนะ รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดตาก  นายแพทย์ปุริฉัตร ยิ่งรังสรรค์ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตาก นายสุชัย ชาญวิกย์การ แรงงานจังหวัดตาก พร้อมด้วย หัวหน้าส่วนราชการ ภาคเอกชน และผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม ทั้งนี้เพื่อให้นายจ้าง และสถานประกอบการ มีแรงงานที่เพียงพอในการขับเคลื่อนกิจการตลอดจนเศรษฐกิจของประเทศ แก้ไขปัญหาการลักลอบเข้าเมือง สามารถควบคุม ป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้อย่างเป็นระบบ และให้แรงงานต่างด้าว ได้เข้าสู่ระบบการจ้างงานที่ถูกกฎหมายเกิดประโยชน์แก่ประเทศไทย ทั้งด้านเศรษฐกิจ สาธารณสุข ความมั่นคง และระบบการจ้างงานของประเทศ

การประชุมดังกล่าวสืบเนื่องจาก ที่ประชุม ศบค. มีมติเห็นชอบแนวทางการนำแรงงานต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศ ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ ซึ่งกระทรวงแรงงาน จะเปิดให้มีการนำเข้าแรงงานตาม MOU โดยแรงงานต่างด้าวที่เดินทางเข้ามายังประเทศไทย ต้องเข้ารับการกักตัว และตรวจหาเชื้อโควิด-19 ตามมาตรการที่กำหนด สำหรับแรงงานต่างด้าวที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว ต้องกักตัว 7 วัน หากฉีด 1 เข็ม หรือยังไม่เคยรับวัคซีน จะต้องกักตัว 14 วัน และระหว่างกักตัว จะมีการตรวจหาเชื้อโควิดด้วยวิธี RT–PCR 2 ครั้ง โดยให้นายจ้าง/สถานประกอบการ รับผิดชอบค่าใช้จ่าย ซึ่งประกอบด้วยค่าสถานที่กักกัน และค่าตรวจหาเชื้อโควิด 2 ครั้ง ส่วนกรณีคนต่างด้าวติดเชื้อฯ นายจ้างหรือบริษัทประกันภัย เป็นผู้รับผิดชอบค่ารักษา ซึ่งวันสุดท้ายของการกักตัวแรงงานต่างด้าว ที่ยังรับวัคซีนไม่ครบเกณฑ์ จะได้รับการฉีดวัคซีนโดยกระทรวงแรงงาน เป็นผู้จัดหาให้ ในส่วนของเข็มที่ 2 กระทรวงแรงงานจะประสานสาธารณสุขจังหวัดปลายทาง เพื่อนัดหมายฉีดวัคซีนให้แก่แรงงานต่างด้าวตามกำหนด โดยนายจ้างจ่ายแค่ค่าบริการทางการแพทย์

สำหรับจังหวัดตาก มีสถานกักกันแรงงานต่างด้าว ที่ได้รับอนุญาตดำเนินการ โดยแบ่งเป็นสถานกักกันของรัฐ ประกอบด้วย กองร้อยตำรวจตระเวนชายแดนที่ 344 อำเภอท่าสองยาง , กองร้อยตำรวจตระเวนชายแดนที่ 345 อำเภอแม่ระมาด และกองร้อยตำรวจตระเวนชายแดนที่ 346 อำเภอแม่สอด ซึ่งทั้ง 3 แห่ง เป็นสถานกักกันรูปแบบ OQ รองรับได้แห่งละ 50 คน และมีพื้นที่รอติดตั้งเต้นท์สนาม ที่จะสามารถรองรับเพิ่มเติมได้ อีกแห่งละ 250 คน ส่วนสถานกักกันของเอกชน ได้แก่ เฮือนคำฟ้ารีสอร์ท ตำบลแม่ปะ อำเภอแม่สอด รองรับได้ 120 คน , อาคารโรงงานอัลฟาเดิม ตำบลแม่กาษา อำเภอแม่สอด รองรับได้ 612 คน , อาคารโรงงานบริษัทบางกอกรับเบอร์เก่า ตำบลแม่ตาว อำเภอแม่สอด อาคารที่ 1 รองรับได้ 200 คน และอาคารที่ 2 รองรับได้ 100 คน รวม 300 คน , อาคารอพาร์ทเม้นต์ 50 ห้อง หมู่ที่ 3 ตำบลแม่ปะ อำเภอแม่สอด รองรับได้ 200 คน และโรงแรมแม่สอดวัฒนาวิลเลจ ตำบลแม่ตาว อำเภอแม่สอด รองรับได้ 480 คน

ประชุมรับแรงงานต่างด้าว

โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะได้บูรณาการการทำงานร่วมกัน เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 พร้อม ๆ กับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ที่จำเป็นต้องใช้แรงงานข้ามชาติอย่างเหมาะสม ที่เข้าสู่ระบบการจ้างงานที่ถูกกฎหมาย ซึ่งจะเกิดประโยชน์แก่ประเทศไทย ทั้งด้านเศรษฐกิจ สาธารณสุข ความมั่นคง และระบบการจ้างงานของประเทศ ต่อไป…

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of สมจิต รุ่งจำรัสรัศมี

สมจิต รุ่งจำรัสรัศมี

เป็นผู้สื่อข่าวในพื้นที่ชายแดนไทย - เมียนมา จังหวัดตาก ในสังกัดสำนักข่าวต่างประเทศ และสำนักข่าวในประเทศ ทีี่ปฎิบัติงานข่าวด้านชายแดนไทย - เมียนมา มาอย่างยาวนาน โดยมีประสบการณ์ ในด้านการทำข่าวทั้งสื่อโทรทัศน์ วิทยุ และหนังสือพิมพ์ ตลอดจนเว็บไซค์ และสื่อต่างๆ ที่ทันกับยุค ทันกับสมัยใหม่