ยืนยันสร้างแบบอุโมงค์จุดดอยพะวอตามทางรถไฟช่วงสายตากแม่สอดไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และตาน้ำ
เมื่อวันที่ 21 พ.ย.2565 ผู้สื่อข่าวรายงานจากอ.แม่สอด จ.ตากว่า ตามที่ทางองค์การบริหารส่วนตำบลคณะชุมชนในพื้นที่ตำบลแม่ปะ จ.ตาก ได้รับเรื่องร้องเรียนจากภาคประชาสังคมในพื้นที่ตำบลแม่ปะ และนำหนังสือยื่นต่อนายสมชัย กิจเจริญรุ่งโรจน์ ผวจ.ตาก ในประเด็นการก่อสร้างทางรถไฟตามโครงการรถไฟทางคู่ สายแม่สอด- ตาก-กำแพงเพชร-นครสวรรค์ และวิตกในปัญหาสิ่งแวดล้อมในช่วงหลักกิโลเมตรที่ 223+758 ถึง 235+758 ระยะทาง 12 กม. เป็นการก่อสร้างแบบอุโมงค์ (อุโมงค์ดอยพะวอ) เนื่องจากพื้นที่ตาน้ำขนาดใหญ่ (มีน้ำผุดจากใต้ดิน)ในเขตป่าชุมชน และเป็นต้นน้ำที่ไหลลงมาสู่อ่างเก็บน้ำห้วยลึกตามลำห้วยเตย ห้วยหินฝน ทางด้านทิศตะวันออกของพื้นที่ตำบลแม่ปะ อ.แม่สอด ที่สามารถใช้น้ำในการเกษตรกรรมในพื้นที่ตำบลแม่ปะ และตำบลใกล้เคียงกว่าพันไร่ นั้น ล่าสุดหลังจากทางจังหวัดตากได้ประสานให้ทั้ง 2 ฝ่ายได้หารือทำความเข้าใจกันที่วัดเวฬุวัณ ตำบลแม่ปะ โดยทางเจ้าหน้าที่โครงการฯด้านสิ่งแวดล้อมได้ชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนแล้ว ตามข้อเสนอของชุมชนที่ให้มีการศึกษาเพิ่มเติม โดยเสนอชะลอการดำเนิน โครงการเฉพาะจุดดอยพะวอ , ขอให้มีการปรับแนวอุโมงค์ , ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับน้ำบาดาลเข้าไปสำรวจ และตรวจสอบเพื่อ ยืนยันผลกระทบ ตามที่ทางคณะผู้นำชุมชนได้นำเสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัดตากในกรณีนี้
ดร.พิเศษ เสนาวงษ์ ผู้ชำนาญสิ่งแวดล้อม โครงการรถไฟทางคู่ สายแม่สอด- ตาก-กำแพงเพชร-นครสวรรค์ กล่าวว่า ทางโครงการศึกษายืนยันผลการศึกษาเป็นมาตรฐานทางวิศวกรรม ที่ได้ดำเนินการเพื่อนำมาตอบ ประเด็นของข้อซักถาม และได้มีการศึกษา ทบทวน อย่างละเอียดชัดเจน และการออกแบบอุโมงค์มีความ เหมาะสมและจะไม่มีผลกระทบต่อสภาพอุทกธรณีวิทยา และตาน้ำใต้ดิน ส่วนข้อมูลตาน้ำที่เป็นตาน้ำในลักษณะน้ำใต้ดินในประเภทน้ำซับจะไม่มีผลกระทบจากการก่อสร้างอุโมงค์เนื่องจากพื้นที่รับน้ำในพื้นที่นี้มีขนาดใหญ่มาก เมื่อเทียบกับแนวอุโมงค์ และแนวอุโมงค์ก่อสร้างในชั้นหินใต้ยอดภูเขา ต่ำกว่ายอดเขาราว 400 เมตร จึงไม่กระทบกับการรับน้ำ และรวบรวมน้ำ
นายพิเศษ กล่าวว่า ข้อมูลที่ผู้นำชุมชนนำเสนอเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์จึงได้ขอให้ทางคณะผู้นำชุมชนจัดส่งข้อมูลในรายละเอียดที่แสดงที่มา วิธีการสำรวจ มาตรฐานการอ้างอิง ผู้สำรวจ และการแปลผลสำรวจ เพื่อนำมาส่งมอบให้ผู้เชี่ยวชาญโครงการนำไปประกอบเพิ่มเติมสำหรับการพิจารณา โดยจะได้ นำมาประกอบการศึกษา เพื่อกำหนดมาตรการที่เหมาะสม ซึ่งคณะผู้นำชุมชนยินดีจะจัดส่งให้เพื่อประกอบในงานศึกษาต่อไป และเมื่อนำข้อมูลจากคณะผู้นำชุมชนมาให้ผู้เชี่ยวชาญศึกษาแล้ว หากมีความจำเป็นที่ควรปรับแนวเส้นทาง จะประสานทางทีมวิศวกรออกแบบให้หารือกับคณะผู้นำชุมชนในการดำเนินการ และทางผู้เชี่ยวชาญเห็นว่าจำเป็นต้องมีการติดตามตรวจสอบ ผู้เชี่ยวชาญจะประเมินว่าควรกำหนดมาตรการเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำตั้งแต่ก่อนก่อสร้าง และในช่วงของการก่อสร้างเพื่อเปรียบเทียบ และหากมีผลกระทบชัดเจน ควรกำหนดมาตรการให้หยุด และชะลอการก่อสร้างในช่วงดังกล่าว เพื่อตรวจสอบและหาวิธีการแก้ไขต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดร.พิเศษได้เสนอว่า หากมีมาตรการในการเฝ้าระวังดังกล่าวแล้ว เพื่อให้แก้ปัญหาได้ทันท่วงทีอาจกำหนดมาตรการในการให้มีกองทุนด้านสิ่งแวดล้อมในการสำรองเพื่อรองรับกรณี ดังกล่าว โดยให้จังหวัดเป็นผู้ดูแลในการบริหารจัดการ เพื่อความคล่องตัว โดยจะนำเสนอประกอบเป็นเงื่อนไขการ พัฒนาโครงการ และกรณีการขอชะลอโครงการ หรือขอปรับเปลี่ยนแนวเส้นทาง ยังเป็นสิทธิที่สามารถดำเนินการได้ โดยทางคณะผู้นำชุมชน หรือประชาชนในพื้นที่ หรือทางจังหวัด เสนอโดยทางโครงการศึกษาได้ยืนยันความเหมาะสมทางวิศวกรรมที่ศึกษาครอบคลุมตามมาตรฐานทางวิชาการแล้ว ประกอบกับ ในช่วงพื้นที่จากจังหวัดตากมาสู่อำเภอแม่สอด เป็นผืนป่าที่สำคัญ และมีความสมบูรณ์ การก่อสร้างในรูปแบบของ อุโมงค์เป็นรูปแบบที่มีผลกระทบน้อยที่สุด และแนวทางเลือกได้มีการวิเคราะห์เปรียบเทียบถึงความเหมาะสม โดยเป็นระยะทางที่สั้นที่สุด จะเกิดผลกระทบน้อยที่สุด และจะทำให้ค่าลงทุนก่อสร้างมีความเป็นไปได้ในการพัฒนา
อย่างไรก็ตาม ในการศึกษาจึงได้แยกช่วงการเสนอพิจารณาเป็นสองช่วง ดังนั้น หากทางคณะผู้นำชุมชน ประสงค์จะชะลอการเสนอโครงการในช่วงตาก-แม่สอด ก็เป็นสิ่งที่สามารถดำเนินการได้ และคาดว่าจะไม่มีผลกระทบ ต่อการพิจารณาเส้นทางโครงการในช่วงที่ 1 นครสวรรค์-ตาก ซึ่งทางโครงการได้แบ่งตอนเพื่อนำเสนอโครงการไว้แล้ว ซึ่งการพิจารณาดำเนินการในแนวทางใด ย่อมสามารถเป็นไปตามที่ประชาชนชาวแม่สอดต้องการหรือเห็นพ้องต้องกัน และล่าสุดทางดร.พิเศษได้นำผลการหารือกับฝ่ายชุมชนส่งเป็นหนังให้กับผวจ.ตากแล้ว
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: